ห้วยเขย่ง “เกษตรอินทรีย์ สู่วิถีที่ยั่งยืน”

ห้วยเขย่ง “เกษตรอินทรีย์  สู่วิถีที่ยั่งยืน”
ณ แปลงปลูกพืชอินทรีย์ 70 ไร่
หมู่ 3 บ้านห้วยเขย่ง ตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

 

 

        ชุมชนบ้านห้วยเขย่ง เป็นหนึ่งในชุมชนที่เข้าร่วมกับโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยเขย่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยโครงการฯได้นำองค์ความรู้ด้านการผลิตพืชผักแบบครบวงจรที่ได้จากงานวิจัยตั้งแต่ การวิเคราะห์ปัญหา การวางแผนการผลิต  การผลิต การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว และการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา  มีเกษตรกรเข้าร่วม จำนวน 25 ครัวเรือน พื้นที่ 43 ไร่ สามารถผลิตผักอินทรีย์จำหน่ายให้กับบริษัท และภายในชุมชนได้ 85 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 3,328,000 บาท จากพืช 27 ชนิด ได้แก่ คะน้า ผักกาดฮ่องเต้ ผักกาดกวางตุ้ง ผักกาดหยกขาว พืชตระกูลสลัด ผักบุ้ง แตงกวาญี่ปุ่น แตงร้าน และพืชท้องถิ่นอื่นๆ โดยปัจจุบันเกษตรกรภายใต้การส่งเสริมของศูนย์ฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) จากกรมวิชาการเกษตร การพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการปลูกผักอินทรีย์ให้กับเกษตรกร เจ้าหน้าที่ และผู้ที่สนใจ จึงได้มีการจัดกิจกรรม “เกษตรอินทรีย์  สู่วิถีที่ยั่งยืน” ในวันที่ 23 มกราคม 2563 ณ แปลงปลูกพืชอินทรีย์ 70 ไร่ บ้านห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีนายบวรศักดิ์  วานิช  รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้กล่าวรายงานถึงการดำเนินงานในพื้นที่ห้วยเขย่ง พร้อมทั้งแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาทางด้านอาชีพ และสิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยประธานได้ให้ข้อเสนอถึงการปฏิบัติงานแบบบูรณาการร่วมกันทุกหน่วยงานในพื้นที่ โดยมุ่งพัฒนาสาธารณูปโภคชั้นพื้นฐานของชุมชนเพื่อสามารถดำเนินงานตามแผนโครงการได้อย่างเท่าเทียมกัน และรวมไปถึงการเกษตรแบบครบวงจรที่ชาวบ้านสามารถสร้างอาชีพ และมีตลาดรองรับเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนบ้านห้วยเขย่งและหมู่บ้านข้างเคียง

 

 

   ภายในกิจกรรม “เกษตรอินทรีย์  สู่วิถีที่ยั่งยืน” มีหน่วยงานร่วมบูรณาการ อาทิ กศน.ห้วยเขย่ง สำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค 7 ปศุสัตว์อำเภอทองผาภูมิ กฟผ.เขื่อวราลงกรณ สำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. นพค.11 สถภ.1 นทพ. ฯลฯ และโรงเรียนในพื้นที่ รวมแล้วมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 700 คน  ในงานยังมีกิจกรรมเข้าฐานเรียนรู้ ประกอบด้วย 7 ฐาน ได้แก่

ฐานที่ 1 มาตรฐานเกษตรอินทรีย์
ฐานที่ 2 การเพาะกล้าแบบประณีตและการเตรียมวัสดุเพาะกล้า
ฐานที่ 3 การเตรียมแปลงและการจัดการแปลงปลูก
ฐานที่ 4 การจัดการโรคและแมลง การใช้สารชีวภัณฑ์
ฐานที่ 5 การทำปุ๋ยหมัก และการปรับปรุงบำรุงดิน
ฐานที่ 6 การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
ฐานที่ 7 ความหลากหลายของพืชท้องถิ่นและการใช้ประโยชน์

   กิจกรรมในวันนี้คาดว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะสามารถต่อยอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการปลูกผักอินทรีย์ โดยมีการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีดังกล่าวไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต  เพิ่มรายได้ และลดต้นทุนในการปลูกพืชของตนเอง เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะร่วมกันระหว่างนักวิจัย เจ้าหน้าที่ส่งเสริม เกษตรกร และผู้เข้าร่วมกิจกรรม และเกิดประโยชน์กับหมู่บ้านห้วยเขย่งและบ้านข้างเคียงมากยิ่งขึ้น

 

 

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม