สวพส. จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำแผนชุมชนและแผนที่ดินรายแปลงเพื่อขับเคลื่อนบริหารจัดการชุมชนอย่างมีส่วนร่วมในจังหวัดน่าน

 

วันที่  25 กรกฎาคม 2562  โครงการจัดทำแผนชุมชนในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำแผนชุมชนและแผนที่ดินรายแปลงเพื่อขับเคลื่อนบริหารจัดการชุมชนอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ประจำปี 2562” ณ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโป่งคำ แม่จริม และโรงแรม ดิอิมเพรส น่าน  จังหวัดน่าน โดยมีนายวิรัตน์  ปราบทุกข์  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เป็นประธานเปิดงาน โดยการสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อชี้แจงแนวทางการจัดทำแผนชุมชนที่มีคุณภาพ และการจัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง รวมถึงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงให้กับกลุ่มผู้นำชุมชน นอกจากนี้ยังเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานการส่งเสริมการจัดทำแผนชุมชนที่มีคุณภาพ ตลอดจนประเด็นปัญหาและอุปสรรคต่างๆเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาพื้นที่สูงร่วมกัน

          โดยในวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ได้เจ้าหน้าที่ได้จัดกิจกรรมองค์ความรู้ศึกษาชุมชนตัวอย่างที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนโดยใช้แผนชุมชนและแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง ณ บ้านศรีบุญเรือง โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโป่งคำ และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม  ซึ่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้ให้ข้อเสนอและแนวทางปฏิบัติว่า “การพัฒนาพื้นที่สูงของ สวพส. ตามแนวทางการพัฒนาของโครงการหลวง มีองคมนตรีดูแล 3 ท่าน เพื่อให้การทำงานเกิดผลตามพระราชปณิธานของ ร.10 ซึ่งต้องทำงานอย่างเข้มข้นจริงจังและได้ผลรวดเร็ว ถูกต้องตามหลักวิชาการและกฎหมาย รวมทั้งต้องร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย

 

 

          การทำงานตามแนวทางแบบโครงการหลวง เน้นการทำงานให้ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐาน โดยอาศัยความร่วมมือแบบบูรณาการจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชนในพื้นที่ โดยมีชาวบ้านเป็นผู้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนาไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ ตัวอย่างการพัฒนาด้านอาชีพ เน้นการสร้างอาชีพทางเลือกแก่เกษตรกร โดยอาศัยองค์ความรู้จากงานวิจัยมาพัฒนาให้ประสบผล แล้วจึงขยายผลองค์ความรู้แก่เกษตรกร ทั้งการศึกษาดูงาน การจัดทำแปลงสาธิต การฝึกปฏิบัติของเกษตรกรร่วมกับเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญรายสาขา เป็นต้น พร้อมทั้งขยายผลความสำเร็จการพัฒนาตามแนวทางโครงการหลวงออกไปแก่ผู้สนใจทั้งภายในและภายนอกประเทศ การทำงานตามแนวทางโครงการหลวง ประสบความสำเร็จด้วยกระบวนการดังต่อไปนี้ คือ

  • การพัฒนาตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  • การพัฒนาเชิงพื้นที่และภูมิสังคม
  • การพัฒนาบนฐานความรู้ (งานวิจัยและพัฒนารายสาขา)
  • การพัฒนาอย่างสมดุล (เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐาน)
  • การพัฒนาอย่างครบวงจร (วิจัย พัฒนา และตลาด)
  • การพัฒนาอย่างบูรณาการของหน่วยงาน และมีส่วนร่วมของชุมชน (แผนแม่บทและคณะทำงานบริหารจัดการเชิงพื้นที่)
  • การพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยมีเจ้าหน้าที่ประจำ”

 

           ในการสัมมนาที่โรงแรม โรงแรม ดิ อิมเพรส น่าน เกษตรกรจากหลายพื้นที่ได้ร่วมหารือ แลกเปลี่ยนการดำปฏิบัติงานในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ได้เห็นร่วมกันว่าในการดำเนินงานตามแผนชุมชนให้ประสบความสำเร็จ จะต้องทำความเข้าใจกับชุมชนก่อน การทำแผนควรทำและใช้แผนชุมชนเล่มเดียวกัน ที่ชุมชนได้ร่วมกันสกัดปัญหา ความต้องการของชุมชน ชี้เป้าการพัฒนา และจัดลำดับความสำคัญของประเด็นการพัฒนาส่งต่อให้หน่วยงานต่างๆ เพื่อพิจารณาและจัดทำแผนปฏิบัติการสนับสนุน ตามความต้องการของชุมชน และต้องมีการปรับปรุงประเด็นปัญหาและความต้องการอย่างสม่ำเสมอ และต้องมีการติดตาม รายงานความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาการดำเนินงานให้ชุมชนและหน่วยงานทราบด้วย เพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของแผนชุมชนที่จัดทำเองโดยชุมชน

 

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม