โครงการหลวงเตรียมจัดการประชุมนานาชาติในวาระครบรอบ 50 ปี ควบคู่กับการจัดงานประจำปี โครงการหลวง 2562

มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กำหนดจัดการประชุมงานวิชาการนานาชาติ ด้านการพัฒนาเกษตรที่สูงอย่างยั่งยืน ตามพระราชปณิธานการสืบสาน รักษา และต่อยอดงานโครงการหลวง ในวาระโครงการหลวงครบรอบ 50 ปี ในปี 2562 ระหว่างวันที่ 19-21 ธันวาคม 2562 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่

วันที่ 10 มิถุนายน 2562 นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติ เป็นประธานในการประชุม คณะกรรมการฝ่ายอำนวยการ การจัด ประชุมงานวิชาการนานาชาติ ด้านการพัฒนาเกษตรที่สูงอย่างยั่งยืน ตามพระราชปณิธานการสืบสาน รักษาและต่อยอดงานโครงการหลวง ครั้งที่ 1/2562 ณ ห้องประชุม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยมีคณะกรรมการฝ่ายอำนวยจากมูลนิธิโครงการหลวง และ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม การประชุมนานาชาติครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อ เฉลิมพระเกียรติในโอกาสครบรอบ 50 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศวร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมราชบพิตร พระราชทานโครงการหลวง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวงเพื่อสร้างสุขแก่ปวงประชา และยังเป็นการเผยแพร่ผลการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สูงของโครงการหลวงตลอดระยะเวลา 50 ปี ที่สอดรับกับเป้าหมายของสหประชาชาติ (sustainable development goals : SDGs) รวมทั้งเกิด การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานจากองค์การระหว่างประเทศ และประเทศต่าง ๆ มากกว่า 300 คน

การพัฒนาทางเลือกแบบโครงการหลวง (royal project alternative development model) ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าเป็นต้นแบบการพัฒนาที่สูง ที่เป็นรูปธรรม เกิดผลลัพธ์ชัดเจน คือ ฝิ่นหมดไปจากพื้นที่ ด้วยวิธีดำเนินการอย่างสันติ จนได้รับรางวัลในระดับโลก อาทิ รางวัลแมกไซไซ. สาขา international understanding เมื่อปี 2531 รางวัล COLOMBO PLAN เมื่อ ปี 2547 รางวัลด้านสิ่งแวดล้อม ที่สหประชาชาติถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศวร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมราชบพิตร ในปี พ.ศ. 2534 รูปแบบการพัฒนาพื้นที่สูงของโครงการหลวง ยังเป็นแบบอย่างการพัฒนาที่ครบทุกมิติ ด้วยแนวทางดำเนินงานพระราชทาน นั่นคือ เริ่มต้นด้วยการวิจัยทดลอง เพราะ .."เมื่อไม่รู้ต้องวิจัย" ผลวิจัยที่สำเร็จขยายสู่เกษตรกรชาวเขาในพื้นที่ตัวอย่างกลุ่มเล็ก ๆ และค่อย ๆ ขยายขึ้นเพราะการเห็นตัวอย่างความสำเร็จ อีกทั้งยังมีการดำเนินการด้านการตลาด เพื่อส่งผลิตผลจากแปลงเกษตรกรไปถึงผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เป็นการสร้างเสริมเศรษฐกิจที่ดีแก่ประเทศ ทำให้ประชาชนชาวไทยมีผลิตผลเขตหนาวคุณภาพรับประทานในประเทศ ลดการนำเข้า ประกอบกับการดำเนินงานในมิติด้านสังคม เพื่อให้คนในชุมชนอยู่ดี กินดี มีความสุข มีความปลอดภัย รวมทั้งมิติของสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการฟื้นฟู ดูแล และรักษาสิ่งแวดล้อม

การจัดประชุมครั้งนี้ยังพิเศษกว่าการประชุมทั่วๆ ไป คือ จะจัดงานร่วมกับงานประจำปีของโครงการหลวง เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานระดับนานาชาติ ได้แก่ กลุ่มประเทศที่มีการดำเนินการโครงการพัฒนาทางเลือก ประเทศสมาชิกอาเซียน องค์กรระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ เกษตรกรผู้นำในท้องที่ และประชาชนทั่วไป ได้ประจักษ์ถึงความสำเร็จจากของจริง คือ ผลผลิตทดแทนฝิ่นหลากหลายชนิดจากแปลงเกษตรกรชาวเขาในพื้นที่โครงการหลวง 39 แห่ง และพื้นที่พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง อีก 44 แห่ง ที่จัดแสดงและวางจำหน่ายในงานโครงการหลวง 2561 ซึ่งจัดในบริเวณเดียวกัน ระหว่างวันที่ 19-22 ธันวาคม 2562 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม