ปางยางตั้งเป้าเป็นแหล่งรวบรวมพันธ์และผลผลิตอะโวคาโดใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน

 

   

         สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดยโครงการขยายผลโครงการหลวงปางยาง ต.ภูคา อ.ปัว จ.น่าน จัดกิจกรรม Field Day (ฟิลเดย์) “โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกอะโวคาโดภายใต้การปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวทางโครงการหลวง” ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 โดยมีนายชนาธิป เสมแย้ม นายอำเภอปัว จังหวัดน่าน ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ภายในงานได้จัดกิจกรรมมากมาย ได้แก่ การปลูกอะโวคาโด ปลูกหญ้าแฝก เข้าร่วมเรียนรู้ในฐานกิจกรรม จำนวน 8 ฐาน โดยได้บรรยายและสาธิตองค์ความรู้ได้แก่
1.การปรับปรุงดินและผลิตปุ๋ยหมัก
2.การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
3.หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ
4.การลดการใช้สารเคมี การผลิตพืชอาหารปลอดภัย (GAP) และการตรวจคัดกรองโลหิตหาสารตกค้างในร่างกาย
5.การปลูกอะโวคาโด
6.การปลูกเสาวรสหวาน
7.การปลูกองุ่น
8.การปลูกผักในโรงเรือน


         กิจกรรมครั้งนี้มีชาวบ้านและเกษตรกรจากพื้นที่ข้างเคียง นักเรียน เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งต่างก็สนใจในฐานการเรียนรู้และมีความตั้งใจศึกษาองค์ความรู้กันอย่างมาก

 

 

 

            โครงการขยายผลโครงการหลวงปางยาง ตั้งเป้าหมายจะพัฒนาหมู่บ้านปางยางให้เป็นแหล่งรวบรวมพันธ์ของโครงการหลวงและผลผลิตอะโวคาโดใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านปลูกอะโวคาโดเป็นพันธ์พื้นเมือง ไม่ค่อยมีคุณภาพ แต่เจ้าหน้าที่เข้ามาส่งเสริมโดยการเปลี่ยนยอด เป็นพันธุ์ แฮพ พีเตอสัน บัคคาเนีย ซึ่งมีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยโดยในปี 2561 หมู่บ้านปางยางสามารถจำหน่ายผลผลิตได้กว่า 500,000 บาท โดยมีพ่อค้ามารับซื้อในชุมชนและสะขายในตลาดข้อตกลงและตลาดจังหวัดน่าน ปัจจุบัน มีอะโวคาโดกว่า 1,000 ไร่ หรือ ประมาณ 40,000 กว่าต้น มีเกษตรกรรวมกลุ่มเป็นผู้ปลูกอะโวคาโดในโครงการ จำนวน 37 หลังคาเรือน ซึ่งบ้านปางยางมีทั้งสิ้น 56 หลังคาเรือน นับว่า เกษตรกรให้ความสนใจการปลูกอะโวคาโดเป็นจำนวนมาก ซึ่งในอนาคตจะยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน และเป็นอีก 1 ช่องทางที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้

            หมู่บ้านปางยาง ได้เข้าร่วมดำเนินงานกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้พัฒนาและส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรโดยการส่งเสริมอาชีพทางเลือกเพื่อสร้างรายได้ เช่น ส่งเสริมการปลูกผักในและนอกโรงเรือน เพื่อจำหน่ายในตลาดชุมชนและตลาดท้องถิ่น สนับสนุนการเพิ่มผลผลิตข้าวโดยการทำนาขั้นบันไดและมีการส่งเสริมการปลูกไม้ผลที่มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ เช่น อะโวคาโด องุ่น สตรอเบอร์รี่ พลับ อีกทั้งเกษตรกรยังได้รับการส่งเสริมศักยภาพในการพัฒนาแปลงของตนเองให้เป็นแปลงเรียนรู้ การปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวทางโครงการหลวงได้เป็นอย่างดี

 

 

 

 

 

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม