“ไม้สน ชะลอความแก่” งานวิจัยนำร่อง สู่ความท้าทายด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ไม้สนเมืองไทย

           

 

           เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดยโครงการศึกษาชนิด/พันธุ์ไม้สนเพื่อปลูกเป็นสวนป่าและการอนุรักษ์ในพื้นที่โครงการหลวงวัดจันทร์ สำนักวิจัย ร่วมกับศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดการเสวนาไม้สน “ความท้าทายด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ไม้สนเมืองไทย: จะก้าวเดินอย่างไรให้ยั่งยืน” ณ ห้องกัลปพฤกษ์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดย ผศ.ดร.กอบศักดิ์  วันธงไชย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวรายงานในพิธีเปิดการเสวนาไม้สน และนางสาวเพชรดา อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เป็นประธานในพิธีเปิดงาน

            นางสาวเพชรดา อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ประธานในพิธี ได้กล่าวสรุปว่า การจัดเสวนาครั้งนี้เป็นการเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยไม้สนสู่การนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมเสวนาจะได้รับความรู้ ความเข้าใจการใช้ประโยชน์จากไม้สนที่ถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงสามารถต่อยอดแนวความคิดการใช้ประโยชน์จากไม้สนได้ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อหาแนวทางในการใช้ประโยชน์การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้สนและแนวทางในการอนุรักษ์ไม้สนอย่างยั่งยืน และสิ่งสำคัญคือเป็นการร่วมมือกันเพื่อสร้างเครือข่ายนักวิจัยและผู้สนใจในงานด้านป่าสนและไม้สนของประเทศอีกด้วย

 

           จากนั้นมีการบรรยายพิเศษ “การใช้ประโยชน์จากเกสรไม้สน” โดย ดร.สมภพ โคตรวงษ์ นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า ผลวิจัยการใช้ประโยชน์จากเกสรของต้นสน ละอองเกสรสนที่โตเต็มที่ ซึ่งเป็นสเปิร์มจากต้นสนตัวผู้ ที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเพศชาย และยังประกอบด้วยสารอื่นๆ ที่คล้ายกับสารที่พบในมนุษย์ เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน สารไฟโตรเอสโตรเจนที่สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโต และกิจกรรมของฮอร์โมนในพืชและมนุษย์ ซึ่งในขณะนี้ พบว่า มีการนำเกสรสนมาใช้เป็นที่แพร่หลายในยาแผนโบราณ ใช้เป็นอาหารเสริม เกสรนั้นมีประโยชน์นานาประการ ได้แก่

  1. ช่วยป้องกันและลดอนุมูลอิสระในร่างกาย เกสรสน อาจเป็นหนึ่งในอาหารที่ทรงพลังที่สุด สำหรับชะลอวัยของผู้สูงอายุ โดยการปรับปรุงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
  2. ควบคุมความหิว คงอัตราการเผาผลาญอาหาร และเพิ่มอัตราการเผาผลาญไขมันในร่างกายได้ด้วย
  3. ช่วยทำให้ฮอร์โมนสมดุล เนื่องจากเกสรสน มีสารประกอบที่สามารถช่วยล้างพิษและช่วยฟื้นฟูสมดุลของฮอร์โมนตามธรรมชาติของมนุษย์
  4. ช่วยกระตุ้นฮอร์โมนเพศชาย สามารถแก้ปัญหาระบบต่อมไร้ท่อ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ และมีความสามารถในการสร้างและบำรุงรักษากล้ามเนื้อ
  5. มีสารทดแทนฮอร์โมนเพศหญิง ชะลอการชราภาพของเซลล์ และลดทอนโรคที่เกี่ยวกับอายุ และสุดท้าย
  6. มีสารทดแทนฮอร์โมนสังเคราะห์ได้ด้วย ซึ่งต่างชาติวิจัยและนำไปใช้ประโยชน์กันจำนวนมากแล้ว แต่ประเทศไทยกำลังศึกษาวิจัยได้ประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา” ดร.สมภพ โคตรวงษ์ นักวิจัยอิสระ กล่าว

          สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การนำเสนอผลงานของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ นักวิชาการจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อาจารย์และนิสิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งการจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ผลจากการวิจัยของโครงการฯ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการพัฒนาจากไม้สน การประกวดภาพวาด “ป่าสนในฝัน” ของนักเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาของอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ได้มีการเสวนา “ความท้าทายด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ไม้สนเมืองไทย: จะก้าวเดินอย่างไรให้ยั่งยืน” โดยวิทยากรจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการจากกรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และองค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้งชุมชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับป่าสนและไม้สน

 

ประเด็นความท้าทายที่ได้จากการประชุม

  1. ด้านวิชาการ ได้แก่

1.1 การวิจัยด้านการจัดการไฟในป่าสนเนื่องจากไฟเป็นปัจจัยในการรักษาสภาพนิเวศของป่าหลายประเภทรวมทั้งป่าสน อีกทั้งการดำเนินชีวิต วิถี วัฒนธรรมของชุมชนที่พึ่งพิงทรัพยากรในป่าสนมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ไฟในป่าสนทั้งสิ้น ดังนั้น การปฏิเสธการเผาหรือมาตรการห้ามเผาต่างๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อลดปัญหาหมอกควันจากไฟป่าล้วนมีผลกระทบต่อทั้งระบบนิเวศและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ดังนั้น จะหาแนวทางในการสร้างสมดุลระหว่างการใช้ไฟของชุมชนกับการรักษาคุณภาพของอากาศและการคงอยู่ของป่าสนอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

1.2 การพัฒนานักวิจัยไม้สนของประเทศไทยที่ปัจจุบันมีอยู่จำกัดและทยอยเกษียณอายุราชการ อีกทั้งการขาดแปลงวิจัยระยะยาวสำหรับเป็นแปลงสาธิตในการจัดการป่าสน/สวนป่าสน

1.3 การวิจัยและพัฒนาต่อยอดการใช้ประโยชน์ไม้สนแบบครบวงจร

1.4 การจัดการโรคและแมลงป่าสน

1.5 การวิจัยตลาดไม้สน

1.6 การวิจัยเชิงนโยบายด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ไม้สน

  1. ด้านนโยบาย/กฎหมาย การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ไม้สนบนพื้นที่สูง ได้แก่ ประเด็นของนโยบายและข้อกฎหมายบางประการที่เป็นอุปสรรคอยู่ เช่น กฎหมายป่าสงวนแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้และการเก็บหาของป่าพวกยางและชันสน สิทธิในที่ทำกินของชุมชน นโยบายการควบคุมไฟป่า ซึ่งการป้องกันไฟไม่ให้เกิดขึ้นใน  ป่าสนจะส่งกระทบต่อการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติของป่าสนในระยะยาว
  2. ด้านบริบทของชุมชน การเปลี่ยนแปลงของวิถีชุมชนในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นสิ่งสำคัญต่อรูปแบบการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในพื้นที่ ดังนั้น การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ไม้สนอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งมิติชุมชน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ
  3. ด้านการเปลี่ยนความคิดของผู้คนในเรื่องของไม้สนต่างถิ่น (exotic pine) ที่มักมองว่าไม้ต่างถิ่นคือไม้ที่รุกราน ก้าวร้าว ( aggressive alien species) สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม….ทั้งที่ความเป็นจริงไม้ต่างถิ่นหลายชนิดไม่ได้ก้าวร้าวอย่างที่คิด…. หากเลือกชนิดที่เหมาะสม ปลูกและจัดการอย่างเหมาะสม ดังเช่นไม้สนต่างถิ่นหลายชนิด (สนคาริเบีย สนโอคาร์ปาร์ สนเทคูนูมานี่) ในปัจจุบันที่มีแปลงวิจัยสาธิตอยู่มากมายทั้งของกรมป่าไม้และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ให้เห็นซึ่งสนต่างถิ่นหลายชนิดมีข้อดีคือเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูงกว่าสนพื้นเมืองอีกทั้งยังช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9  เรื่อง “การปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง”

 

แนวทางการขับเคลื่อนไม้สนของประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

  1. การสร้างความเข้าใจทางวิชาการที่ถูกต้องให้กับประชาชน ผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม ตลอดจนผู้กำหนดนโยบาย เช่น การจัดการไฟในป่าสน การปลูกฟื้นฟูไม้สน การปลูกไม้สนต่างถิ่น
  2. การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาคราชการ ภาคประชาชน และภาคเอกชน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและต่อเนื่องในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ไม้สนอย่างยั่งยืนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
  3. การพิจารณานโยบายและกฎหมายที่ส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ไม้สนอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับบริบทของชุมชน เช่น การสร้างพื้นที่สาธิตการจัดการไม้สนแบบครบวงจรบนพื้นที่สูงโดยใช้แนวทางกฎหมายที่เหมาะสม นโยบายส่งเสริมการปลูกไม้สนเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนบนพื้นที่สูง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับส่งเสริมการใช้ประโยชน์และตลาดไม้สนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น
  4. การวิจัยและพัฒนาไม้สนแบบครบวงจรเพื่อรองรับการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจของประเทศไทย
  5. 5. การสนับสนุนบุคลากรวิจัยและสนับสนุนการสร้างแปลงวิจัยสาธิตระยะยาว (long term permanent plots) ที่แสดงให้เห็นถึงผลของการจัดการป่าตามหลักวิชาการป่าไม้ที่ตอบสนองต่อการอนุรักษ์ป่าสน
  6. 6. สนับสนุนการประชุมวิชาการ การเสวนาและเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านไม้สนของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างเครือข่ายนักวิชาการและผู้สนใจทางด้านไม้สนอันจะนำไปสู่พลังในการร่วมขับเคลื่อนการอนุรักษ์ป่าสนและไม้สน

 

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม