อบรมการผลิตไบโอชาร์จากวัสดุอินทรีย์ เพื่อประโยชน์ทางการเกษตร
สวพส. จัดอบรมการผลิตไบโอชาร์จากวัสดุอินทรีย์เพื่อประโยชน์ทางการเกษตรและคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
(20 พ.ค. 67) สวพส. ได้จัดอบรมการผลิตไบโอชาร์จากวัสดุอินทรีย์เพื่อประโยชน์ทางการเกษตรและคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นำพร ปัญโญใหญ่ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธนศิษฏ์ วงศ์ศิริอำนวย อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชูชาติ สันธทรัพย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรปฐพีศาสตร์ ภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากร ณ ห้องชัยพฤกษ์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการด้านการผลิตและการใช้ไบโอชาร์ที่ถูกต้องและเหมาะสมจากวัสดุที่มีในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
นายภูธาดล ธีรอธิยุต รองผู้อำนวยการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ประธานในการอบรม กล่าวว่าสวพส. ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อเข้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) จึงได้กำหนดเป็นจุดเน้นการดำเนินงานภายใต้แผนปฎิบัติการต่างๆ ของ สวพส. และตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยในปี 2567 ได้มีแผนบริหารจัดการขยะด้วยการผลิตถ่านชีวภาพหรือไบโอชาร์ (Biochar) ขึ้นจากขยะประเภทกิ่งไม้ทางปาล์ม ทางมะพร้าว และวัสดุที่มีในพื้นที่ เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงดิน ผสมวัสดุปลูกพืช และใช้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนในการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่ง Biochar ถือเป็นรูปแบบหนึ่งในการสนับสนุนการจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
การอบรมในครั้งนี้ บุคลากรของ สวพส. ได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการด้านการผลิตและการใช้ไบโอชาร์ที่ถูกต้องและเหมาะสมจากวัสดุที่มีในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกตใช้ในการดำเนินงาน รวมทั้งมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อเข้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ของ สวพส. ต่อไป