คณะอนุกรรมการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเร่งพัฒนาแหล่งน้ำ

อ่าน: 369 ครั้ง

การประชุมคณะอนุกรรมการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่โครงการหลวง
เพื่อเร่งพัฒนาแหล่งน้ำ รองรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

          นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่โครงการหลวง ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.30 น. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนางสาวทินรัตน์ พิทักษ์พงศ์เจริญ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ด้านบริหารจัดการ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ และมีอนุกรรมการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 10 หน่วยงาน เข้าร่วมการประชุม

          ประธานในที่ประชุม ได้ให้ความสำคัญกับการการบริหารจัดการน้ำบนพื้นที่สูงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและอาศัยระยะเวลาในการดำเนินงาน จึงต้องมีการวางแผนการดำเนินงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการบูรณาการงานร่วมกัน โดยเฉพาะ 3 พื้นที่สำคัญ ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ จ.ตาก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน โดยมอบหมายให้หน่วยงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาแหล่งน้ำ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ทบทวนแผนงาน/โครงการที่มีอยู่เดิม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งบนพื้นที่สูงต่อไป

          นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานด้านการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่โครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และ พ.ศ. 2567 ไตรมาส 1 รับทราบแผนความต้องการสนับสนุนด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่โครงการหลวง และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568–2570 และพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) กรอบคำของบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานต่าง ๆ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในพื้นที่โครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง เพื่อเสนอคำของบประมาณฯ ไปยังสำนักงบประมาณต่อไป รวมถึงพิจารณาขอบเขตการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สูงและการขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อรองรับการขยายงาน โดยเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานการขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ภายใต้ “โครงการพัฒนาป่าไม้พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง....”  ในพื้นที่การดำเนินงานกลุ่มพื้นที่ 1 โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 44 แห่ง จำนวน 616 กลุ่มบ้าน และกลุ่มพื้นที่ 2 กลุ่มบ้านที่ดำเนินการพัฒนาในบางกิจกรรม โดยความร่วมกับหน่วยงานและภาคเอกชนบางแห่ง จำนวน 391 กลุ่มบ้าน

 

 

12 กุมภาพันธ์ 2567

ข่าวสาร / กิจกรรม สวพส. ล่าสุด