วิถีเกษตรบ้านปางแดงใน สู่ต้นแบบการแก้ปัญหาหมอกควันพื้นที่สูง

วิถีเกษตร “บ้านปางแดงใน” สู่ต้นแบบการแก้ปัญหาหมอกควันบนพื้นที่สูง

          (23 พ.ค. 66) นายอดิเรก อินต๊ะฟองคำ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ให้การต้อนรับ ผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษ โดยมีผู้แทนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ร่วมหารือแนวทางการจัดการปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาผ่านยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) ณ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน

          ในการนี้ นายอดิเรก อินต๊ะฟองคำ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้นำเสนอภาพรวมการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร รวมทั้งการแก้ปัญหาหนี้สิน ลดการทำไร่ ปลูกข้าวโพด ลดการใช้สารเคมี ด้วยการปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยหลักการและองค์ความรู้จากโครงการหลวง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา โดยเริ่มจากการเข้าไปพูดคุยถึงปัญหาในชุมชนและจัดทำแผนพัฒนาค้นหาองค์ความรู้ที่เหมาะสม พืชที่เหมาะสมกับสภาพอากาศและพื้นที่ มีตลาดรองรับ ปรับระบบเกษตรด้วยระบบปลูกพืชผักปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP  จากปัญหาหนี้สินทับถมจากการทำไร่ข้าวโพด ปัจจุบันชาวบ้านปางแดงในปรับระบบเกษตรเป็นการปลูกพืชผัก ไม้ผล  ที่ใช้พื้นที่น้อยแต่ได้ผลตอบแทนสูง เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น เมล่อนญี่ปุ่น องุ่น ถั่วนิ้วนางแดง ฝรั่ง มะม่วง นอกจากนี้การปรับระบบการเกษตร ทำให้ชุมชนบ้านปางแดงในไม่มีปัญหาการเผา 100% โดยได้รางวัล “ต้นแบบหมู่บ้านปลอดการเผา” จากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี 2555 ปัจจุบันชุมชนบ้านปางแดงในเป็นแหล่งเรียนรู้การปรับระบบการปลูกพืชที่ยั่งยืน โดยชุมชนมีเกษตรกรผู้นำรวม 15 ราย ที่ช่วยทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญ ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนากับ สวพส. รวมถึงการเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกพืชชนิดต่าง ๆ สู่เกษตรกรรายอื่น ๆ มีแปลงเรียนรู้การปรับระบบการปลูกพืชของเกษตรกร

          ทั้งนี้ บ้านปางแดงใน ได้รับรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเลื่องลือขยายผล (Participation Expanded) ระดับดีเด่น ประจำปี 2565 ชื่อผลงาน เลื่องลือขยายงาน บ้านปางแดงใน ต้นแบบต่อยอด Towards SDGs และมีการนำต้นแบบการปรับระบบการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการนำผลงานนวัตกรรมจากงานวิจัยปรับวิธีการปลูกข้าวโพดเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่ว และการส่งเสริมการปลูกพืชโดยใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้จากโครงการหลวง ไปขยายและเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาในพื้นที่สูงอื่น ๆ อีกด้วย

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม