ชุมชนรักษาป่า ลดก๊าซเรือนกระจกบนพื้นที่สูง

ชุมชนรักษาป่า ลดก๊าซเรือนกระจกบนพื้นที่สูง

          นางสาวเพชรดา อยู่สุข รองผู้อำนวยการสถาบัน ด้านการพัฒนา และนางสาวสุมาลี เม่นสิน นักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ให้การต้อนรับ ผู้แทนจากบริษัท HOYA Corporation นำโดย Mr. Takemi Miyamoto ตำแหน่ง Leader, XR Project และนางสาวสมถวิล จันทราช ที่ปรึกษาโครงการ เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ชุมชนบ้านปางมะกล้วย อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

       เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่าแป๋ ได้สรุปผลการพัฒนาชุมชนครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และชี้แจงโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme; LESS) โดยระยะที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนชุมชนโครงการพัฒนาฯ 4 แห่ง ดูแลรักษาต้นไม้พื้นที่ป่าชุมชน 982 ไร่ ภายใต้ชื่อโครงการธนาคารต้นไม้ ซึ่งสามารถรวมปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บได้ 29,877 tCO2eq (ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า) อย่างไรก็ตามโครงการนี้มุ่งเน้นให้ชุมชนร่วมกิจกรรมลดการปล่อยหรือเพิ่มการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกสาเหตุการเกิดภาวะโลกร้อนเท่านั้น 

          ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สวพส. เริ่มงานยกระดับกิจกรรมกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยคัดเลือกชุมชนเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับคือ รายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตประเภทการอนุรักษ์/ฟื้นฟูป่า ให้กับองค์กรหรือผู้ประกอบการสำหรับนำไปชดเชยคาร์บอนจากกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งบ้านปางมะกล้วย จัดอยู่ในกลุ่มชุมชนที่มีความพร้อมทั้งด้านบริบทการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความอุดมสมบูรณ์ของป่า ความเข้มแข็งของสมาชิกและการสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่น อย่างไรก็ตามพื้นที่หลายส่วนติดขัดเรื่อง เอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทำให้ สวพส. ต้องเร่งการขออนุญาตใช้พื้นที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ได้แก่ มาตรา 19 และโครงการป่าชุมชนภายใต้ความร่วมมือกับกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับพื้นที่ดำเนินงานอื่นของ สวพส.

          จากนั้นผู้แทนจากบริษัท HOYA Corporation ได้แนะนำธุรกิจในเครือ แบ่งเป็น (1) ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น เลนส์แว่นตา คอนแทคเลนส์ เลนส์ตา กล้องเอนโดสโคป และ (2) ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผงจอแอลซีดี ดิสก์แก้วสำหรับฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เลนส์กล้องดิจิตอลและมาร์ทโฟน ตามด้วยการชี้แจงโครงการ XR และกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility: CSR) โดยเฉพาะการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมภายในองค์กร เบื้องต้นบริษัท HOYA ประมาณการค่าคาร์บอนเครดิตเพื่อนำไปชดเชย ระยะที่ 1 จำนวน 16,000 tCO2eq และระยะที่ 2 จำนวน 500,000 tCO2eq ทั้งนี้ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตต้องสอดคล้องกับมาตรการขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งมีภารกิจขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยเหตุนี้ที่ประชุมจึงมีมติให้ สวพส. ศึกษารายละเอียดกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting Program: T-COP) รวมถึงข้อกำหนดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจาก 2 มาตรฐาน ได้แก่

          • มาตรฐานภายในประเทศ ผ่านโครงการ T-VER

          • มาตรฐานสากล ผ่านโครงการ T-CERs (Thailand Certified Emission Reduction) ตามแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตที่เห็นชอบโดยคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ

 

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม