หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ร่วมหาแนวทางการพัฒนาพื้นที่สูง

หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ร่วมหาแนวทางการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน

ตามแนวทางโครงการหลวง

          นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สวพส. ให้การต้อนรับ คณะจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดย นายครองศักดิ์  สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อร่วมกันหารือแนวทางสร้างเสริมความร่วมมือการบูรณาการการทำงานร่วมกัน และการศึกษาดูงาน ด้านการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนตามแนวทางโครงการหลวง ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระหว่างวันที่ 15 - 17 กุมภาพันธ์ 2566 ณ พื้นที่ดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง จ.เชียงใหม่

          นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้นำเสนอรูปแบบการดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง โดยใช้รูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนของโครงการหลวง ดำเนินการพัฒนาเริ่มจากการแบ่งแยกพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำการเกษตรออกจากพื้นที่ป่า ให้ถูกต้องตามกฏหมาย ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน และหน่วยงานต่างๆ วางแผนการพัฒนาให้ตรงตามปัญหา ความต้องการ และภูมิสังคมของแต่ละชุมชน แก้ไขปัญหาความยากจน ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ด้วยการเกษตรกรที่ให้ผลตอบแทนสูง ภายใต้การใช้ทรัพยากรอย่างจำกัดและไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้องค์ความรู้ การมีส่วนร่วมของประชาชน และการบูรณาการ ร่วมกับหน่วยงานกว่า 33 หน่วยงานในการพัฒนาพื้นที่สูง โดยใช้หลักการพัฒนาแบบโครงการหลวงขยายองค์ความรู้ไปสู่ 44 พื้นที่ 616 หมู่บ้าน และโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน โดยเน้นการพัฒนาจากฐานราก แก้ปัญหาความยากจน การปรับระบบเกษตร ปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำ ส่งเสริมการทำการเกษตรที่ใช้พื้นที่น้อย แต่ได้รายได้ที่เพียงพอ จัดทำแผนที่ดินรายแปลงเพื่อแยกพื้นที่ป่าออกจากพื้นที่ทำกิน พื้นที่อยู่อาศัย และใช้เป็นเครื่องมือในการทำแผนพัฒนาร่วมกับหน่วยงานบูรณการในทุกมิติ โดยยึดหลักความเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ตามรูปแบบโครงการหลวง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของพื้นที่ต่าง ๆ ที่ประสบผลสำเร็จได้รับรางวัลเลิศรัฐ และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการศึกษาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้

          ทั้งนี้ สวพส. ได้นำเยี่ยมชมการดำเนินงานในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่แฮ ต้นแบบการพัฒนาแบบโครงการหลวงอีกหนึ่งแห่ง ที่นี่เป็นแหล่งผลิตพืชผักรายใหญ่ของโครงการหลวง โดย นายศิริชัย แซ่เจียม หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ นำเยี่ยมชมแปลงส่งเสริมการปลูกพืชผัก ไม้ผลพร้อมนำเสนอรูปแบบการดำเนินการพัฒนาแบบโครงการหลวงในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ

          นอกจากนี้ ได้ลงพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยเป้า เพื่อร่วมหารือแนวทางสร้างเสริมความร่วมมือการบูรณาการในครั้งนี้ ได้ติดตามและลงพื้นที่การดำเนินงาน โดยมีแนวทางการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนตามแบบโครงการหลวง และผลสำเร็จการดำเนินงานการดำเนินงานการพัฒนาโดยการนำองค์ความรู้จากโครงการหลวงไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน

          นายอดิเรก อินต๊ะฟองคำ รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า การดำเนินงานในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ได้นำหลักการทำงานแบบโครงการหลวงมาขยายต่อสู่ชุมชนบ้านปางแดงใน ที่มีเชื้อสายชนเผ่าปะหล่องหรือดาราอั้ง ซึ่งได้ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย และทำการเกษตรเชิงเดี่ยวที่มีการเผา และใช้สารเคมี ส่งผลให้ป่าไม้ในพื้นที่ถูกทำลายเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ชาวบ้านยังเป็นหนี้จากการทำการเกษตร สวพส. ได้นำรูปแบบงานวิจัยและงานพัฒนาแบบโครงการหลวงเข้ามาส่งเสริม และถ่ายทอดให้กับชาวบ้าน จนชาวบ้านเปลี่ยนความคิด ปรับรูปแบบการทำเกษตรแบบเดิม มาเป็นการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พื้นที่น้อย ใช้น้ำน้อย แต่ได้รายได้ที่สูงกว่าเดิม เน้นการปลูกไม้ผลที่สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับผืนป่าและธรรมชาติ จนปัจจุบันพื้นที่ชุมชนบ้านปางแดงในไม่กลับไปทำไร่หมุนเวียน ไม่เผา มีรายได้จากการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชุมชนมีรายได้ รายวัน รายเดือน รายปี สร้างคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น คนในชุมชนไม่มีหนี้สิ้นอีกต่อไป

          จากนั้น นำคณะศึกษาดูงานในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยเป้า อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ในอดีตหมู่บ้านทำการเกษตรโดยใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก สวพส. ได้เข้ามาส่งเสริมด้วยการนำองค์ความรู้จากโครงการหลวงมาขยาย และปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดใช้สารเคมี จนปัจจุบันสามารถสร้างกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งสามารถผลิตพืชผัก และไม้ผลปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP และมาตรฐานอินทรีย์ สร้างสถาบันเกษตรกรภายใต้แบรน์ น้ำ 3 สาย by ห้วยเป้า  มีโรงงานคัดบรรจุที่มีมาตรฐาน GMP สามารถรับรองได้ว่าผลผลิตที่มาจากห้วยเป้าปลอดภัยถึงมือลูกค้าอย่างแน่นอน

          จากการลงพื้นที่ทำให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการติดตาม กำกับ ดูแล และสนับสนุนเกษตรกรบนพื้นที่สูงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นที่ฐานที่จำเป็น รวมถึงการเชื่อมโยงการตลาดและสร้างเครือข่ายในพื้นที่โครงการหลวง และ พื้นที่ดำเนินงานของ สวพส. สู่ระดับนานาชาติ

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม