สวพส. จับมือ สอห. พัฒนากัญชง กัญชา สู่อุตสาหกรรมอาหาร

สวพส. จับมือ สอห. ลงนาม MOU ความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนากัญชง กัญชา และสารสกัดสู่การใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร

          สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ร่วมกับ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนากัญชง กัญชา และสารสกัด สู่การใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร

          เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร นำโดย นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนากัญชง กัญชา และสารสกัด สู่การใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร ในรูปแบบออนไลน์ โดยมี ดร.เพชรดา อยู่สุข รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ด้านการพัฒนา , ดร.อัจฉรา ภาวศุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัย , นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมเป็นสักขีพยาน

          นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการทำงานและการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการศึกษาวิจัยและพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านกัญชง กัญชา และสารสกัดอย่างครบวงจร และนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์

          สวพส. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนาพืชกัญชงนี้ มีประเด็นที่จะให้ความสำคัญและดำเนินการในระยะต่อไป คือ การปรับปรุงพันธุ์ให้ได้พันธุ์ที่มีสารสำคัญกลุ่ม Cannabidiol (CBD), Flavonoids หรือ Terpenes ในช่อดอกสูงสำหรับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ อาหาร หรือเวชสำอาง แต่ใช้ต้นทุนต่ำ เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ในด้านอุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ หรือเวชสำอาง ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีการสกัดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชกัญชง กัญชาตามกรอบที่กฎหมายกำหนด

          ด้าน นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร จะได้นำข้อมูลและองค์ความรู้ที่ได้จากความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนากัญชง กัญชา และสารสกัด ไปพัฒนาสู่การใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร เชื่อมโยงธุรกิจอาหารอย่างครบวงจร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนที่สนใจ

          โดยบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการนี้มีกำหนด ระยะเวลา 5  ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม วันที่ 20 เมษายน 2565 - วันที่ 19 เมษายน 2570  นับเป็นความร่วมมือที่จะช่วยกันต่อยอดทางด้านการศึกษา การค้นคว้าวิจัย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้บุคลากรและประชาชนทั่วไปนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อยอด ในเชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ต่อไป

 

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม