อนุกรรมการประเมินผลติดตามงานบ้านแม่วาก แก้ไขปัญหาความยากจนฯ

อนุกรรมการประเมินผลติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตัวชี้วัดในภารกิจที่คณะกรรมการมอบหมายพิเศษ  (Extra Assignment) เรื่อง การแก้ไขปัญหาความยากจนและการเผาด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม

          9 มีนาคม 2567 นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สวพส. ได้ให้การต้อนรับ นางสาวลดาวัลย์ คำภา ประธานอนุกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการสถาบัน นายสมชาย พฤฒิกัลป์ และนายสุพศิน สุเมธิวิทย์ อนุกรรมการ ในโอกาสที่ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตัวชี้วัดในภารกิจที่คณะกรรมการมอบหมายพิเศษ  (Extra Assignment) เรื่อง การแก้ไขปัญหาความยากจนและการเผาด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ณ บ้านแม่วาก ภายใต้การดูแลของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ

          นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ได้รายงานว่า พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนและการปัญหาหมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวแทนพื้นที่สูงของประเทศไทยที่มีความแตกต่างของระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญ แต่มีความวิกฤติสูง เช่น ความยากจน ขาดแคลนน้ำ ภัยแล้ง มีการใช้พื้นที่ไม่เหมาะสม มีการเผาพื้นที่เกษตรทำให้เกิดปัญหาหมอกควัน PM 2.5 และใช้สารเคมีสูง โดย สวพส. มีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่สูงด้วยการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ การพัฒนาแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ด้วยการทำ MOU ร่วมกับ อบต. และหน่วยงานอื่นๆ มีการใช้ฐานข้อมูลและองค์ความรู้ในการวิเคราะห์พื้นที่ วางแผนการพัฒนาร่วมกันเพื่อให้แผนมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยตลาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้อำเภอแม่แจ่มยังเป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 4 แห่ง และเป็นพื้นที่ที่ สวพส. ได้ร่วมดำเนินการกับหลายภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะที่ผ่านมาเป็นการดำเนินงานรายหมู่บ้านและเริ่มเห็นความสำเร็จของอย่างเป็นรูปธรรม จึงมีเป้าหมายจะขยายผลสำเร็จไปยังพื้นที่อื่นๆ ในอำเภอแม่แจ่ม อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้นำนโยบาย​ที่ดินแห่ง​ชาติ (คทช.)​ มาดำเนินการทั้งอำเภอ ทำให้สามารถขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ในเขตป่าให้เป็นไปอย่างถูกต้อง

          นายอานนท์ ยอดญาติไทย นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา ได้รายงานว่า ในปี พ.ศ.  2566 อำเภอแม่แจ่ม เกิดจุดความร้อน Hotspot ถึง 1,525 จุด แบ่งเป็นในพื้นที่ป่า 1,106 จุด และพื้นที่เกษตร 419 จุด
สวพส. ได้รับทุนโครงการวิจัย (RU) จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ในพื้นที่เป้าหมาย 13 ชุมชน และงานวิจัยและนวัตกรรมการใช้ประโยชน์เพื่อปัญหาอย่างเร่งด่วนฝุ่นละออง PM 2.5 แบบมุ่งเป้าและบูรณาการใน 10 ชุมขน 7 ตำบล โดยมีเป้าหมายที่จะลดจุดความร้อน (Hotspot) และพื้นที่เผาไหม้ (Burn Scar) ในพื้นที่เกษตร จำนวน 10 หมู่บ้าน ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (2562-2566) และส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ลดความยากจน ด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก การปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการเศษวัสดุการเกษตร ซึ่งมีความก้าวหน้าดำเนินงานที่ผ่านมาได้ร่วมกับสำนักยุทธศาสตร์และแผน สวพส. ได้จัดทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่เป้าหมาย 10 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ลักษณะทางกายภาพ ข้อมูลลักษณะภูมิอากาศ ข้อมูลบริบทภูมิสังคม นโยบายภาครัฐ การใช้ที่ดินรายแปลง (Zoning) ที่มีการกำหนดขอบเขตหมู่บ้าน พื้นที่ทำกิน พื้นที่ป่า พื้นที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งได้จัดทำแผนแม่บทพัฒนาชุมชนระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2567-2569) และแผนปฏิบัติการ ปี 2567 โดยการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจและถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ระบุปัญหาและความต้องการของชุมชน และนำเข้าข้อมูลในฐานข้อมูลระบบสารสนเทศ GIS ที่เชื่อมโยงกับระบบดิจิทัลของ อบต. และค้นหาผู้นำเกษตรการที่จะสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังเกษตรกรอื่นๆ ต่อไป

          ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า หัวใจสำคัญของการดำเนินงาน คือ การสร้างทัศนคติในการยอมรับของเกษตรกร การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหา อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่จะไม่เผาซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรเอง การจัดทำแผนแม่บทพัฒนาชุมชน (Master Plan) จะส่งผลดีต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ใช้ข้อมูลโดยตรงร่วมกันไม่ซ้ำซ้อนและส่งผลต่อการพิจารณากรอบงบประมาณ ควรสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการรับซื้อเศษวัสดุจากการเกษตร การสนับสนุนการจัดการเศษวัสดุในแปลงที่ไม่มีการเผา หรือเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่มีการเผาและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่ของ สวพส. จำเป็นต้องมีความรู้และทักษะที่หลากหลาย ทั้งที่เป็นความรู้ด้านวิชาการเกษตรและทักษะการเจรจาต่อรองในการขับเคลื่อนงานร่วมกับทุกภาคส่วน และควรสร้างผู้นำชุมชนและบุคลากรจากหน่วยงานเครือข่ายเพื่อเข้ามาร่วมเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แก่ชุมชนและเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ต่อไป

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม