พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่เฉพาะ

ที่มาและความสำคัญ

พื้นที่สูงของประเทศไทยมีชุมชนอาศัยอยู่จำนวนมาก โดยส่วนหนึ่งเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และยากลำบากเป็นพิเศษ ทำให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ยากลำบาก และขาดทางเลือกในการประกอบอาชีพ จึงยังมีการลักลอบปลูกฝิ่นอยู่ ทั้งนี้จากการเฝ้าติดตามการปลูกฝิ่นบนพื้นที่สูง ในระหว่างปีพ.ศ.2547 - 2552 ของสำนักงาน ป.ป.ส. พบว่า มีแนวโน้มที่พื้นที่ปลูกฝิ่นมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก 744 ไร่ ในฤดูกาลปลูกปี 2547/48 เป็นจำนวน 984 ไร่ในฤดูกาลปลูกปี 2548/49 จำนวน 1,445 ไร่ในฤดูกาลปลูกปี 2549/50 จำนวน 1,800 ไร่ ในฤดูกาลปลูกปี 2550/51 และจำนวน 1,319 ไร่ ในฤดูกาลปลูกปี 2551/52 โดยมีสาเหตุสำคัญเกิดจากขาดทางเลือกในการประกอบอาชีพ ประกอบกับราคาของฝิ่นสูงขึ้น ประกอบกับพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร การได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐด้านความจำเป็นพื้นฐานทำได้ยาก ทำให้บางชุมชนยังมีการลักลอบปลูกฝิ่นซ้ำซากในพื้นที่อยู่ ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 และคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2551 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) จึงได้ขอรับความช่วยเหลือในการพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของแก่ราษฎรในพื้นที่ที่มีปัญหาลักลอบการปลูกฝิ่นซ้ำซากในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ประธานมูลนิธิโครงการหลวงจึงมอบให้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 22 หน่วยงาน เข้าดำเนินการโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ภายใต้แผนแม่บทซึ่งดำเนินงานมาแล้ว 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2553 - 2556) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 ดำเนินงานในพื้นที่มีปัญหาการปลูกฝิ่นซ้ำซาก จำนวน 115 หย่อมบ้าน 15 ตำบล 7 อำเภอ ในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก

ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2557 - 2561) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ วันที่ 26 มีนาคม 2556 ดำเนินงานต่อเนื่องในพื้นที่มีปัญหาการปลูกฝิ่นซ้ำซาก โดยเพิ่มเติมหย่อมบ้านที่มีปัญหาลักลอบปลูกฝิ่นรุนแรงจำนวน 11 พื้นที่ รวมพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 126 หย่อมบ้าน 18 ตำบล 7 อำเภอ ในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก

จากผลการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมาเมื่อพิจารณาตามตัวชี้วัดความสำเร็จทั้งด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดทำให้ชุมชนเป้าหมายเลิกการปลูกฝิ่นและได้รับการพัฒนาตามนโยบายด้านสังคมและคุณภาพชีวิต ด้านเศรษฐกิจชุมชน ประชากรเป้าหมายได้รับการพัฒนาอาชีพบนฐานความรู้และทรัพยากรในท้องถิ่นและสามารถประกอบอาชีพที่ก่อให้เกิดแหล่งอาหารที่มั่นคง และรายได้ที่พอเพียงต่อครัวเรือน ชุมชนเป้าหมายเกิดความเข้มแข็งจากการรวมกลุ่มที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีศักยภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชุมชนเป้าหมายมีการกำหนดของเขตพื้นที่ป่าและพื้นที่ทำกิน รวมทั้งมีกระบวนการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานอย่างเข้มแข็ง โดยภาพรวมโครงการประสบความสำเร็จด้านการส่งเสริมทางเลือกการประกอบอาชีพ เช่น การปลูกผักในโรงเรือน กาแฟอาราบิกา และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพืชอาหารให้กับชุมชน รวมถึงการสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำให้ชุมชนได้รับการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ในระยะที่ผ่านมายังคงเป็นการดำเนินงานของหน่วยงานร่วมบูรณาการเป็นส่วนใหญ่ซึ่งได้พัฒนาผู้นำชุมชนเพื่อดำเนินงานควบคู่กับเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม แต่ยังคงจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นสำคัญดังนี้

  1. ด้านการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่ห่างไกลและทุรกันดาร ประชากรส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจนจึงมีความจำเป็นต้องมีการกระจายการพัฒนาให้มากขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างอาชีพทางเลือก พัฒนาผลผลิตสู่มาตรฐานความปลอดภัย เพิ่มช่องทางด้านการตลาด ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมทั้งยกระดับการพัฒนาเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย
  2. ด้านการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนชุมชนที่เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาของหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการป้องกันยาเสพติด รวมทั้งด้านการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อนำไปสู่สถาบันเกษตรกรเพื่อพึ่งพาตนเองได้
  3. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดของเขตพื้นที่ป่าและพื้นที่ทำกินอย่างมีส่วนร่วมโดยการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกับการจัดทำแผนที่การใช้ที่ดินรายแปลงของเกษตรกร เพื่อส่งเสริมการปรับระบบการใช้ประโยชน์ที่ดินเชิงอนุรักษ์ควบคู่กับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย
 

ดังนั้น การพัฒนาจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนให้ชุมชนอยู่ดีมีสุขโดยจัดแผนปฏิบัติการเพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานของหน่วยงานร่วมบูรณาการต่อไป พร้อมปรับชื่อโครงการให้เหมาะสมกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ เป็น “โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่เฉพาะ” โดยมีระยะดำเนินงาน 4 ปี (พ.ศ. 2562 – 2565)

พื้นที่ดำเนินงาน รวม 117 กลุ่มบ้าน ใน 18 ตำบล 7อำเภอ ของ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก ซึ่งมีพื้นที่ปลูกฝิ่นและจำนวนประชากรรวมทั้งชนเผ่า ดังแสดงในตารางที่ 2 ซึ่งโดยทั่วไปจัดเป็นหมู่บ้านในพื้นที่ทุรกันดารมาก การเข้าถึงพื้นที่กระทำได้ค่อนข้างยาก ถึงยากมาก และเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านเป้าหมายจะต้องเดินทางข้ามจากสันเขาสู่สันเขาเป็นส่วนใหญ่ มีพื้นที่เป้าหมาย ดังนี้

จังหวัด อำเภอ ตำบล จำนวนหมู่บ้าน/หย่อมบ้าน จำนวนประชากร ชนเผ่า
ครัวเรือน คน
เชียงใหม่ อมก๋อย (1) นาเกียน 34 1,363 6,549 กะเหรี่ยง
(2) แม่ตื่น 19 547 3,193 กะเหรี่ยง
(3) ยางเปียง 9 416 2,339 กะเหรี่ยง
(4) แม่หลอง 10 390 1,684 กะเหรี่ยง
(5) อมก๋อย 4 234 940 กะเหรี่ยง
เชียงดาว (6) เชียงดาว 3 65 261 ลีซอ
(7) เมืองงาย 1 12 57 ลีซอ
(8) เมืองคอง 6 233 982 ลีซอ
(9) แม่นะ 2 108 263 ม้งและลีซอ
แม่แตง (10) กึ้ดช้าง 3 92 388 มูเซอ
เวียงแหง (11) เมืองแหง 3 158 955 มูเซอ
ไชยปราการ (12) แม่ทะลบ 3 327 1,679 ลีซอ มูเซอ
(13) ศรีดงเย็น 1 36 304 มูเซอ
ตาก แม่ระมาด (14) แม่ตื่น 6 299 1,299 กะเหรี่ยง
แม่ฮ่องสอน ปาย (15) เมืองแปง 6 372 1,779 ม้ง กะเหรี่ยงและลีซอ
(16) แม่ฮี้ 4 100 484 ลีซอ
(17) เวียงเหนือ 1 40 199 ลีซอ
(18) โป่งสา 2 354 1,040 กะเหรี่ยง
3 จังหวัด 7 อำเภอ 18 ตำบล 117 5,146 24,395 4 ชนเผ่า
 

ข้อมูลพื้นฐานพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่เฉพาะ 11 แห่ง

ลำดับ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ที่ตั้ง จำนวนประชากร จำนวนหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด สถานการณ์ลักลอบปลูกฝิ่นในพื้นที่ (ไร่)
ครัวเรือน ราย เป้าหมายรวม รายตำบล 2552/53 2556/57 2560/61 2563/64
1 ผาแดง ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ 200 651 5 3 (1) กึ๊ดช้าง แม่แตง เชียงใหม่ 26.07 9.68 18.76 14.42
2 (2) เมืองนะ เชียงดาว
2 ฟ้าสวย ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 77 318 4 3 (1) เชียงดาว เชียงดาว เชียงใหม่ 46.33 23.68 14.05 2.80
1 (1) เมืองงาย
3 ห้วยโป่งพัฒนา ต.แม่ทะลบ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ 363 1,983 4 3 (1) แม่ทะลบ ไชยปราการ เชียงใหม่ 2.37 0 0 0
1 (2) ศรีดงเย็น
4 ขุนตื่นน้อย ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ 547 3,193 19 19 (1) แม่ตื่น อมก๋อย เชียงใหม่ 175.71 105.65 9.94 0.36
5 ผีปานเหนือ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ 1,363 6,549 34 34 (1) นาเกียน อมก๋อย เชียงใหม่ 259.94 427.94 13.50 1.92
6 แม่แฮหลวง ต.ยางเปียง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ 416 2,339 9 9 (1) ยางเปียง อมก๋อย เชียงใหม่ 20.01 149.14 2.88 0
7 ห้วยแห้ง ต.แม่หลอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ 221 1,020 7 7 (1) แม่หลอง อมก๋อย เชียงใหม่ 3.15 181.12 6.65 0
8 แม่ระมีดหลวง ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ 403 1,604 7 4 (1) อมก๋อย อมก๋อย เชียงใหม่ 133.19 157.54 3.13 1.13
3 (2) แม่หลอง
9 ป่าเกี๊ยะใหม่ ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 473 2,345 12 6 (1) เมืองคอง เชียงดาว เชียงใหม่ 40.14 18.95 4.54 9.28
3 (2) เมืองแหง เวียงแหง
2 (3) แม่ฮี้ ปาย แม่ฮ่องสอน
1 (4) เวียงเหนือ
10 ห้วยฮะ ต.เมืองปาย อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน 784 3,094 10 6 (1) เมืองแปง ปาย แม่ฮ่องสอน 15.42 21.26 6.31 0
2 (2) โป่งสา
2 (3) แม่ฮี้
11 ห้วยน้ำเย็น ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก 299 1,299 6 6 (1) แม่ตื่น แม่ระมาด ตาก 0 0 0 0
11 พื้นที่โครงการ 5,146 24,395 117 117 18 7 3 722.33 1,094.96 79.76 29.91
 

หมายเหตุ : ข้อมูลสถานการณ์ลักลอบปลูกฝิ่นในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่เฉพาะ, สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด ป.ป.ส. (2564)