น้ำหมักชีวภาพพืชผักชอบ

น้ำหมักชีวภาพ (bio-extract) หรือที่หลายคนเรียกว่า ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ หรือปุ๋ยน้ำหมัก ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้เคยจัดพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับคุณสมบัติของน้ำหมักชีวภาพมากมายหลายสูตรจากทั่วประเทศ และพบว่า น้ำหมักชีวภาพส่วนใหญ่มีคุณสมบัติเป็นปุ๋ยน้อยมาก โดยส่วนใหญ่มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมน (สารกระตุ้นการเจริญเติบโต) มากกว่า ซึ่งถ้าจะเรียกให้ถูกต้อง จึงควรเป็น "น้ำหมักชีวภาพ"

รองศาสตราจารย์อรรถ บุญนิธี ถือได้ว่าเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกการทำและใช้น้ำหมักชีวภาพของประเทศไทย (สามารถหาข้อมูลของท่านได้ทางอินเตอร์เน็ต) และผู้เขียนยังได้รับเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลของน้ำหมักชีวภาพซึ่งเขียนโดย รศ.อรรถ บุญนิธี จากอาจารย์ที่เคารพรักท่านหนึ่ง ถือว่าเป็นโชคดีอย่างที่สุด

  • สำหรับสูตรที่ผู้เขียนและทีมงานใช้กันอยู่มี 2 สูตร หลักๆ ดังนี้
  1. 1. สูตรสำหรับช่วยในการเจริญเติบโต จะเป็นน้ำหมักจากไข่ไก่ ซึ่งพบว่า มีคุณสมบัติเป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชผักได้ดีกว่าสูตรอื่นๆ โดยนำไข่ไก่ 5 กิโลกรัม (ใช้ทั้งเปลือกใส่ในเครื่องปั่น) ผสมกับกากน้ำตาล 5 กิโลกรัม และยาคูลท์ 1 ขวด จากนั้นใส่แป้งข้าวหมาก 1 ก้อน เป็นลำดับสุดท้าย ถ้าเป็นช่วงฤดูร้อน หมักไว้ 14 วัน ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวหมักไว้ 21 วัน หลังจากนั้นนำไปใช้ได้เลย 
  2. 2. สูตรไล่แมลง จะใช้พืชสมุนไพร/พืชเครื่องเทศ เช่น กระเทียม ขิง ข่า ตะไคร้ พริกขี้หนู บอระเพ็ด ฯลฯ ตามแต่จะหาได้ เน้นพืชรสเผ็ด ขม ฝาด เป็นหลัก โดยจะใช้พืช 3 ส่วน กากน้ำตาล 1 ส่วน ระยะเวลาหมักใกล้เคียงกับสูตรที่ 1 (หากมี เชื้อ พด.2 หรือ พด.7 ก็ใส่ได้นะคะ)

วิธีสังเกตน้ำหมักที่ดี คือ กลิ่นต้องไม่เหม็น (เน่า) แต่จะมีกลิ่นคล้ายๆ กลิ่นน้ำหมักผลไม้ และที่สำคัญควรใช้ภาย 1 เดือน หลังจากหมักเสร็จแล้ว เพราะหลังจาก 1 ไปแล้วจะเหลือแต่ไนโตรเจน  ซึ่งมีผลงานวิจัยที่ผู้เขียนและทีมงานได้ศึกษาคุณสมบัติของน้ำหมักไว้

  • ข้อดีและสิ่งที่ต้องระมัดระวัง

  1. น้ำหมักชีวภาพ มีคุณสมบัติเป็นกรด ถ้าใช้เข้มข้นเกินไปจะส่งผลกระทบต่อพืชได้ เช่น ทำให้ใบไหม้ ดังนั้น การผสมน้ำหมักชีวภาพกับน้ำ จึงควรเริ่มที่สัดส่วน 1:1,000 หรือ 1:500 หรือ น้ำ 20 ลิตร น้ำหมัก 2 ช้อนโต๊ะ แล้วฉีดพ่นที่ต้นผักได้เลย หรือจะรดลงดิน หรือให้ไปพร้อมระบบน้ำก็ได้ 
  2. โดยทั่วไปน้ำหมักชีวภาพจะมีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมน (สารกระตุ้นการเจริญเติบโต) และด้วยความที่เป็นวัสดุธรรมชาติจึงเสื่อมสภาพเร็ว ผู้เขียนแนะนำว่าควรทำปริมาณน้อยๆ แต่ทำบ่อยๆ และใช้ภายใน 1-2 เดือน จะเกิดประสิทธิภาพดีที่สุด 
  3. การซื้อน้ำหมักชีวภาพสำเร็จรูป มีความเสี่ยงที่จะพบสารเคมีปนเปื้อน (ที่สำคัญยังราคาแพงด้วย) ซึ่งผู้เขียนเคยนำน้ำหมักชีวภาพสำเร็จรูปบางชนิด (มีคนนำมาให้เกษตรกรเพื่อใช้ในแปลงอินทรีย์!)
    ไปตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้าง...แล้วก็พบสารเคมี! ยังโชคดีที่เกษตรกรยังไม่ได้นำไปใช้ในแปลงอินทรีย์ 
  4. เกษตรกรควรทำน้ำหมักชีวภาพเอง เพราะในการตรวจรับรอง ผู้ตรวจรับรองจะสอบถามถึงแหล่งที่มาของวัสดุที่เกษตรกรนำมาใช้ในแปลง หากเกษตรกรทำน้ำหมักชีวภาพเองก็จะสามารถอธิบายถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้ ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือได้เป็นอย่างดี 
  5. ประหยัดต้นทุน เพราะเกษตรกรสามารถหาวัตถุดิบจากในแปลง เช่น เศษผักที่ตัดแต่งออก (ขออย่าให้เป็นโรคหรือเน่าเสีย) หรือถ้านึกอะไรไม่ออก ก็ต้น “กล้วย” ใช้ได้ทั้งต้นเลย (ในรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพที่หมักจากต้นกล้วย) ที่สำคัญต้องเตรียมกากน้ำตาลไว้ให้พร้อม 

น้ำหมักชีวภาพทำง่าย ใช้ปริมาณน้อย (ช่วยลดต้นทุน) แถมยังปลอดภัยด้วย

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
ดร.เพชรดา อยู่สุข

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง