ความร่วมมือขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาส่งเสริมและสนับสนุนกาแฟอะราบิก้า
มูลนิธิโครงการหลวง สวก. กวก. และ สวพส. ลงนาม MOU ร่วมขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนา
ส่งเสริมและสนับสนุนกาแฟอะราบิก้าให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญบนพื้นที่สูง
วันนี้ (วันที่ 25 ตุลาคม 2567) เวลา 15.30 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมด้วย พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิจัย พัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุนกาแฟอะราบิก้าให้เป็นพืชเศษฐกิจที่สำคัญบนพื้นที่สูง ร่วมกับนายวิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) นายพงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร (กวก.) และนายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ณ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ กรุงเทพมหานคร
กาแฟอะราบิก้าได้รับการส่งเสริมจากโครงการหลวงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ภายใต้พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยกาแฟอะราบิก้าเป็นพืชชนิดแรก ๆ ที่เกษตรกรชาวเขาได้รับพระราชทานเป็นพืชทางเลือกทดแทนฝิ่น จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนากาแฟอะราบิก้าในประเทศไทย จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชาวเขาบนพื้นที่สูง และช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ภายใต้ระบบการปลูกแบบวนเกษตร ตามแนวพระราชดำริ “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง”
โครงการหลวงได้ดำเนินการวิจัย ทดสอบ และพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ปัจจุบันมีพื้นที่ส่งเสริมการปลูกกาแฟอะราบิก้าในศูนย์พัฒนาโครงการหลวง จำนวน 25 แห่ง เกษตรกรผู้ปลูก 2,363 ราย พื้นที่ปลูกรวมทั้งสิ้น 16,768 ไร่ เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตผ่านโครงการหลวงปีละ 1,000 ตัน โดยเฉพาะกาแฟกะลาสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงกว่า 200 ล้านบาท กระบวนการรผลิตกาแฟโครงการหลวง เป็นการผลิตที่ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยวิธีการปลูกภายใต้ร่มเงาไม้ยืนต้นธรรมชาติ ผสมผสานกับพืชท้องถิ่น ซึ่งเป็นระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ บนพื้นที่สูงกว่า 1,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล นอกจากเป็นการเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรแล้ว ยังช่วยรักษาความสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน กาแฟอะราบิก้าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งการฟื้นฟูป่าบนพื้นที่สูงของประเทศ การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการวิจัย การพัฒนาการผลิต การแปรรูป และการเพิ่มมูลค่าทางการตลาดของประเทศไทย จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ทันและสอดคล้องกับสถานการณ์การพัฒนากาแฟของโลก การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเป็นการร่วมขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกาแฟอะราบิก้าให้เกิดความยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟคุณภาพที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมถึงสนับสนุนการสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน นำสู่การขยายช่องทางจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในความร่วมมือนี้ยังมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย และการผลิตกาแฟอะราบิก้า ให้มีทักษะและความรู้ที่ทันสมัย เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมการปลูกกาแฟอะราบิก้าบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน เป็นอาชีพที่มั่นคงของเกษตรกรไทย และช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศ