“แก้ที่ปาก ได้ที่ป่า” บ้านหนองเขียว

“แก้ที่ปาก ได้ที่ป่า” บ้านหนองเขียว

โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนพื้นที่เฉพาะบ้านหนองเขียว ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

          วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง หรือ สวพส. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และบุคคลากร เข้าติดตามงาน และประชุมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เกี่ยวกับโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนพื้นที่เฉพาะบ้านหนองเขียว ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่าง สวพส. และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมี นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้าร่วมประชุมและร่วมแก้ไขปัญหาในพื้นที่บ้านหนองเขียว

          บ้านหนองเขียวเป็นหมู่บ้านที่ก่อตั้งมาประมาณสองร้อยกว่าปีแล้ว เดิมชื่อ “โหน่พะโด่” ซึ่งหมายถึง หนองใหญ่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตพื้นที่ อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ และพื้นที่เขตป่าสงวนป่าแม่ปายฝั่งซ้าย มีความสูงเฉลี่ยระหว่าง 1,200 – 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีจำนวนหลังคาเรือน 210 หลังคา จำนวนประชากรทั้งหมด 624 คน แยกเป็นประชากรชาย 300 คน และประชากรหญิง 324 คน ชาติพันธุ์ของชาวบ้านเป็นชนเผ่ากระเหรี่ยง (ปกาเกอญอ) มีพื้นที่หมู่บ้าน 19,950.96 ไร่ เป็นพื้นที่ทำการแกษตร 2,500 กว่าไร่ นอกจากเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติ ป่าต้นน้ำ และป่าใช้สอย ประชาชนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม โดยปลูกพืชไร่ และทำไร่หมุนเวียน เป็นหลัก ชาวบ้านมีรายได้น้อย และไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

          จากปัญหาการพัฒนาที่ไม่ต่อเนื่อง สวพส. ได้เข้าร่วมปฏิบัติงานในพื้นที่บ้านหนองเขียว ร่วมกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยใช้รูปแบบการปฏิบัติงานแบบโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน เราจึงเริ่มเข้าไปสำรวจพื้นที่เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “การสำรวจฐานข้อมูลรายแปลง”   สวพส.เล็งเห็นว่าการพัฒนาบ้านหนองเขียวมีด้วยกัน 2 เรื่อง คือ เรื่องพื้นที่ของศูนย์เรียนรู้ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านอาคาร พื้นที่ โครงสร้างพื้นที่ฐาน อ่างเก็บน้ำ ซึ่งในพื้นที่สูงค่อนข้างหายากที่จะมีอ่างเก็บน้ำ เป็นพื้นที่ทำเลดีมาก พร้อมกับชุมชนที่มีความเข้มแข็ง อยากเรียนรู้ พร้อมพัฒนาหากมีหน่วยงานที่จริงจังและเป็นมืออาชีพด้านการพัฒนาการเกษตรบนพื้นที่เข้าเป็นพี่เลี้ยง  จาการพูดคุยกับชุมชนสิ่งแรกที่ชุมชนบ้านหนองเขียวอยากได้ก็คือ อาชีพที่ทำให้มีรายได้ที่มั่งคง ถ้าใช้พื้นที่น้อย แต่สร้างรายได้ที่มั่งคง ดูแลครอบครัวได้ ถ้ามีพืชทางเลือกที่สามารถตอบโจทย์แก้ไขปัญหาได้ ชุมชนยินดีที่จะ”ปรับเปลี่ยน” เรื่องที่ 2 การบริหารจัดการแหล่งน้ำ เนื่องจากชุมชนมีน้ำต้นทุนที่ดี แต่ขาดการบริหารจัดการน้ำที่ดี ส่งผลให้ในช่วงหน้าแล้ง ชุมชนขาดน้ำใช้ทั้งภาคการเกษตรและในชุมชน

          จากการร่วมกันทำงานบูรณาการกับทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนใน เพื่อเป็นต้นแบบเป็นพื้นที่ที่จะขยายผลไปยังหมู่บ้านอื่น เน้นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างรายได้ด้วยอาชีพทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำน้อยได้มาก พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร สร้างการรวมกลุ่มสถาบันเกษตรกร การมีชุมชนที่เข้มแข็ง การป้องกันการพังทลายของหน้าดิน มีการจัดทำ “Master Plan” จุดเน้น ปรับระบบเกษตร ลดการทำไร่หมุนเวียน เพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งจากการประชุมหน่วยงานและจังหวัดจะร่วมกับพัฒนาโดยใช้ข้อมูลจากแผนที่ดินรายแปลง และMaster Plan นี้ในการขับเคลื่อนพัฒนาบ้านหนองเขียวเพื่อแก้ไขปากท้อง และความยากจนของชาวบ้าน อีกทั้งจะพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อขยายรูปแบบการพัฒนาสู่ชุมชนอื่น ๆ

          นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า จะเร่งดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนพื้นที่เฉพาะบ้านหนองเขียวโดยความร่วมมือระหว่าง สวพส.และหน่วยงานในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนบ้านหนองเขียว ให้อยู่ดีมีสุข

          ความคาดหวัง หากชาวบ้านมีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พื้นที่ทำการเกษตรไม่มีการบุกรุก มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง  กล่าวทิ้งท้ายว่า ให้พัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปมีการเติมเต็มซึ่งกันและกันให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุข ชาวบ้านอยู่ได้สิ่งแวดล้อมอยู่ได้ โดยวิธีการเพาะปลูกที่ถูกต้อง “เราจะแก้ที่ปาก แต่ไปได้ที่ป่า” คือการพัฒนาให้ชุมชนมีกิน มีใช้ พออยู่พอกิน ดูแลครอบครัวได้ โดยการเอาองค์ความรู้ สร้างอาชีพ ทำน้อยได้มาก ใช้พื้นที่น้อยได้ผลตอบแทนที่สูง เช่น กาแฟ อะโวคาโด ผักในโรงเรือน เสาวรสหวาน หลักของโครงการหลวง เมื่อเกษตรกรปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ด้วยการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นที่เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และมีรายได้ที่พอเพียง มีการจัดการระบบน้ำที่ดี ก็สามารถดูแลป่าและน้ำ ที่เป็นต้นกำเนิดของต้นทุนที่เปลี่ยนชีวิตผู้คนในพื้นที่ให้มีความสมบูรณ์ต่อไป

         

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม