สวพส. เข้าร่วมประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง

สวพส. เข้าร่วมประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง

 ประจำเดือน สิงหาคม 2565

          เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 น. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนสิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารปฏิบัติการ 1 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จ.เชียงใหม่ ร่วมกับการประชุมผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์ เพื่อรับฟังการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือได้รายงานปริมาณฝนตกหนักทางภาคเหนือ และมีคำเตือนแก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง และพื้นที่ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะในช่วงระหว่างวันที่ 20-22 สิงหาคม นี้   อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่ม โดยระยะนี้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรจึงควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคราสนิมในกาแฟ

          ในด้านการขยายผลการพัฒนาพื้นที่สูงตามแนวทางโครงการหลวง โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)  ได้นำรูปแบบการพัฒนาที่เรียกว่า โครงการหลวงโมเดล ไปใช้แก้ไขปัญหาบนพื้นที่สูงอื่นในประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 และได้รับรางวัลเลิศรัฐสาขาต่าง ๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้รับรางวัลเลิศรัฐในสาขาสัมฤทธิ์ผล ประชาชนมีส่วนร่วม ปี 2563 โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม อ.แม่จริม จ.น่าน ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาสัมฤทธิ์ผล ประชาชนมีส่วนร่วม ปี 2562 โดยพัฒนาการเกษตรจากดั้งเดิมที่มีการเผาเป็นระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวทางโครงการหลวง ได้แก่ การปลูกข้าวโพดโดยไม่ไถพรวน และเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่วหลังนา การทำคันปุ๋ยจากวัชพืชและตอซังข้าวโพด การปลูกข้าวระบบน้ำน้อย การทำปุ๋ยหมักไม่กลับกอง และส่งเสริมการปลูกผักในโรงเรือน ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในกิจกรรมปลูกป่าและหญ้าแฝกภายใต้โครงการจิตอาสาเราทำความดี และยังมี โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาสัมฤทธิ์ผล ประชาชนมีส่วนร่วม ปี 2563  โดยพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขความยากจนแก่ราษฎร และปรับระบบการเกษตรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

          นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง ซึ่งเป็นหน่วยร่วมปฏิบัติงานด้านการพัฒนาระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ได้ดำเนินการตั้งแต่การอบรมหมอดินอาสาเพื่อเป็นพี่เลี้ยงแก่เกษตรกรในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ดำเนินการฟื้นฟูและป้องกันการชะล้างพังทลายของดินด้วยกล้าหญ้าแฝก รวมจำนวน 3,800,000 กล้า และดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีความจำเป็นในการเสริมประสิทธิภาพการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยจัดทำระบบส่งน้ำชลประทานในพื้นที่ส่งเสริมเกษตรกร รวมทั้งเส้นทางลำเลียง

          สำนักงาน ปปส. ภาค 5 ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง พัฒนาศักยภาพเยาวชนในพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง เพื่อป้องกันด้านยาเสพติด และร่วมกับศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมแก่เยาวชน โดยนำไปศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนความรู้ที่บ้านขอบด้ง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง การดำเนินการภายใต้โครงการวัคซีนวัยรุ่น ได้สนับสนุนกิจกรรมที่เยาวชนสนใจ อาทิ สนับสนุนเยาวชนกลุ่มเสี่ยงโครงการหลวงป้องกันยาเสพติด ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ เลี้ยงไก่ไข่ไฮบริด ในระยะเวลา 2 เดือน ได้เริ่มมีไข่รุ่นแรกจากแม่ไก่ 50 ตัว ทำให้เยาวชนเกิดรายได้ และมีองค์ความรู้เพื่อพัฒนาเป็นอาชีพในอนาคต เยาวชนบ้านขอบด้ง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ได้มุ่งกิจกรรมด้านการอนุรักษ์เครื่องแต่งกายชนเผ่าลาหู่ รวมทั้งสนับสนุนการเลี้ยงหมูแก่เยาวชนศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์

          นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานร่วมบูรณาการการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ได้สนับสนุนการจัดอบรมการพัฒนาคุณภาพผลผลิต ได้แก่ การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์และผลิตเส้นใยกัญชง หรือ เฮมพ์ และการเปลี่ยนยอดอาโวคาโด รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาอาชีพทางเลือกด้านหัตถกรรมแก่กลุ่มสตรี ในหลักสูตรการแปรรูปและ   สร้างแบบเสื้อผ้าสมัยนิยมจากผ้าทอชนเผ่า  พัฒนากลุ่มอาชีพที่มีศักยภาพเข้าสู่กระบวนการ OTOP และขับเคลื่อนให้กลุ่มอาชีพ จดทะเบียนรับรองเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อการเข้าถึงแหล่งทุนในการพัฒนา

การดำเนินการของมูลนิธิโครงการหลวง โดยการสนับสนุนของหน่วยงานร่วมบูรณาการนี้ เป็นการมุ่งเป้าหมายเพื่อสืบสาน พระราชปณิธานในการพัฒนาทางเลือกบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างชุมชนให้มีความมั่นคงในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประชาชนอยู่ดีมีสุข และเป็นต้นแบบการพัฒนาที่เกิดประโยชน์ในระดับชาติและนานาชาติ

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม