เรียนรู้โครงการหลวงโมเดล ผลสำเร็จด้านการพัฒนาพื้นที่สูง

สวพส. ขยายผลสำเร็จด้านการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวงโมเดล
มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชน พึ่งพาตนเองได้ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

          สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. มีภารกิจในการนำรูปแบบการพัฒนาโครงการหลวงโมเดลไปขยายผลในพื้นที่สูงอื่นๆ ของประเทศ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการพึ่งตนเอง กลายเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง โดยมูลนิธิโครงการหลวงและสวพส.ได้จัดงานสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาบนพื้นที่สูงกับนานาชาติ “International Seminar on Sustainable Highland Development (ISSHD) Responding to Challenges Beyond The New Normal” ระหว่างวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ไปสู่ระดับสากล เป็นแบบอย่างที่มีประโยชน์กับพื้นที่สูงในประเทศต่าง ๆ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นอีก 1 ทางเลือกที่จะนำพาประชากรโลกไปสู่การพึ่งพาตนเองและอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

          19 กรกฎาคม 2565 - นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง  กล่าวว่า ภาพรวมภารกิจของสวพส.ในการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวงโมเดล ที่มุ่งเน้นเสริมสร้างให้คนบนพื้นที่สูงมีภูมิคุ้มกัน พึ่งพาตนเองได้ และมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับปัญหาและความท้าทายจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และมีความซับซ้อนมากขึ้นได้ด้วย อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์บนพื้นที่สูงให้มีความรู้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ นำไปสู่การประกอบอาชีพสร้างรายได้อย่างมั่นคงยั่งยืน ด้วยงานวิจัย พัฒนา และส่งเสริมด้านการเกษตรปลอดภัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างสุขอนามัยครัวเรือนให้คนบนพื้นที่สูงมีสุขภาพแข็งแรง เกิดการรวมกลุ่มการพัฒนาอย่างเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ สอดคล้องตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างชุมชนอยู่ดีกินดีอย่างพอดีและพอเพียง สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และเป้าหมายของระบบเศรษฐกิจแบบ BCG โดยมีการนำเสนอกรณีศึกษาในการปรับเปลี่ยนจากไร่ฝิ่นไร่หมุนเวียนสู่ป่าเศรษฐกิจผลลัพธ์ที่สมดุลในมิติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมกรณีตัวอย่างจากศูนย์ฯ แม่แฮ และชุมชนเกษตรอินทรีย์ BCG บ้านเมืองอาง  

          การวิจัย ค้นคว้า และทดลองสิ่งใหม่ ที่นำไปสู่การพัฒนาและส่งเสริมให้กับคนในชุมชนบนพื้นที่สูง เพื่อสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพอย่างถูกต้องแล้ว ยังส่งผลให้สิ่งแวดล้อมได้รับการฟื้นฟูและดูแลรักษา โดยมีกระบวนการที่สำคัญที่ทำให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ คือ การสร้างจิตสำนึกให้แก่คนในชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างถูกต้อง ซึ่งคนบนพื้นที่สูงสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็น การกลับสู่บ้านเกิดของเยาวชนบนพื้นที่สูง, การพัฒนาตลาดออนไลน์ของเกษตรกรรุ่นใหม่และเยาวชน และการพัฒนาบุคลากร เกษตรกรด้านการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรแบบมีส่วนร่วม และการดูแลสุขอนามัยของคนในชุมชน รวมทั้งการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมูบ้าน (อสม.)

          การพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงมุ่งเป้าสู่มิติของสิ่งแวดล้อม และการต่อยอดสู่การเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน เนื่องด้วยประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักและยังพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ จึงได้เริ่มจากการส่งเสริมจิตสำนึกพื้นฐานในการดูแลรักษาบ้านเรือนภายใต้ “โครงการหมู่บ้านสะอาด” สู่เป้าหมายการเป็น“ชุมชนคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน” เพื่อการพึ่งพาและอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม ด้วยการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูรักษาทรัพยากรป่าไม้ การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชน และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง กรณีศึกษา: ต้นแบบป่ากักเก็บคาร์บอนอย่างยั่งยืนสถานีฯ อ่างขาง และชุมชนคาร์บอนต่ำบ้านป่าเกี๊ยะ ศูนย์ฯ แม่แฮ

          ผลสำเร็จของการปฏิบัติงานในการพัฒนาพื้นที่สูงของโครงการหลวงทั้ง 39 แห่ง ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ของนักวิชาการ อาจารย์ นักศึกษา นักเรียน และประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งของเกษตรกร โดยในแต่ละปีจะมีผู้สนใจเรียนรู้ในศูนย์ฯ /สถานีฯ ต่าง ๆ ของการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ เฉลี่ยปีละกว่า 500,000 คน การดำเนินการดังกล่าวได้รับการยอมรับและความชื่อถือในวงวิชาการในด้านองค์ความรู้ และการปฏิบัติในการพัฒนาอย่างดี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

          แนวทางการปฏิบัติที่ดีและผลสำเร็จของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ถือเป็นหน่วยงานหลักในการนำรูปแบบการพัฒนาโครงการหลวงโมเดล ไปขยายผลในพื้นที่อื่นของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการพึ่งตนเอง กลายเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

          นอกจากนี้ยังเผยแพร่งานโครงการหลวงไปสู่ระดับสากล เป็นแบบอย่างที่มีประโยชน์กับพื้นที่สูงในประเทศต่าง ๆ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะนำพาประชากรโลก ไปสู่การพึ่งพาตนเองและอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มุ่งเป้าสู่การแก้ปัญหาความยากจน แก้ปัญหาการปลูกพืชเสพติด การทำเกษตรแบบเลื่อนลอย และการทำลายป่าต้นน้ำลำธาร ปรับเปลี่ยนสู่พื้นที่การเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี เป็นแหล่งอาหารปลอดภัยของโลกควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน

          นับว่าเป็นแนวการปฏิบัติจากบทเรียนที่ดี (Best Practice) และเป็นไปตามแนวทางพัฒนาอย่างบูรณาการตามรูปแบบโครงการหลวง ได้ดำเนินการปฏิบัติพัฒนาภายใต้หลักการพัฒนาตามพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”ภายใต้หลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มิได้เป็นเพียงแค่การพัฒนา ที่มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยปรับเปลี่ยนเป็นข้อได้เปรียบในบริบทของพื้นที่สูงจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้เป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโตแข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป  

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม