ตามรอยงานโครงการหลวง สู่ผ้าทอหลังเขา ชนเผ่าดาราอั้ง

          สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง ได้จัดกิจกรรมนำทีมเจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนลงพื้นที่ เพื่อแนะนำแหล่งท่องเที่ยวและภารกิจงานของสถาบัน เรื่อง “ตามรอยงานโครงการหลวง สู่ผ้าทอหลังเขา ชนเผ่าดาราอั้ง” ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ประวัติของหมู่บ้าน

          บ้านปางแดงใน เป็นหมู่บ้านชาวปะหล่อง (ดาราอั้ง) ที่อพยพมาจากรัฐฉาน ประเทศพม่าด้วยเหตุภัยสงครามการเมือง ทั้งที่ไม่มีที่ทํากิน ได้อพยพมาอยู่ที่ดอยอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ แต่จากการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างต่อเนื่องทําให้บริเวณดังกล่าวขาดความอุดมสมบูรณ์ ต่อมา ในปี 2549 มูลนิธิโครงการหลวง ได้เข้าไปฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ด้วยการปลูกหญ้าแฝก เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พร้อมกับมอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ซึ่งได้จัดตั้งโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน และเข้าไปดําเนินงานพัฒนาการเกษตร เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หมู่บ้านปางแดงในได้พัฒนาด้านการเกษตร และพัฒนาศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรแบบผสมผสานขึ้น ภายในหมู่บ้าน จึงทําให้เริ่มมีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเกษตรกรที่เข้ามาศึกษาดูงานและนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนเพิ่มมากขึ้น มีการรวมกลุ่มกันพัฒนาบ้านพักอาศัยเป็นบ้านพักโฮมสเตย์ สร้างรายได้สู่ชุมชนอีกด้วย

การเดินทาง

          การเดินทางสู่บ้านปางแดงในใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 107 เชียงใหม่-แม่ริม-แม่แตง-เชียงดาวจุดหมายปลายทางคือการได้มาสัมผัสวัฒนธรรมวิถีเรื่องราวของชาวดาราอั้ง และภูมิปัญญาการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติที่ “โฮมสเตย์บ้านปางแดงใน” ชนเผ่าดาราอั้ง หรือ ปะหล่อง เรียกตัวเองว่า “ดาราอั้ง” (Da – ang , Ra – ang , Ta – ang) คำว่า “ปะหล่อง” เป็นภาษาไทยใหญ่ซึ่งใช้เรียกชนกลุ่มนี้ นอกจากนั้นยังมีคำเรียกที่แตกต่างกันออกไปอีก เช่น ชาวพม่าเรียกปะหล่องว่า “ปะลวง”(Palaung) และไทยใหญ่บางกลุ่มก็ใช้คำว่า “คุณลอย” (Kunloi) ซึ่งมีความหมายว่า คนดอย หรือคนภูเขา แทนคำว่าปะหล่อง

อาชีพ

          อาชีพส่วนใหญ่ของชาวบ้านปางแดงใน คือ การปลูกข้าวโพดเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่ว มะม่วง ลำไย เสาวรส องุ่น น้อยหน่า และมีการส่งเสริมด้านการเกษตร เช่น ทำคันปุ๋ยหมักเพื่อช่วยการพังทลายของหน้าดิน ลดการเผาเศษวัสดุ และการจัดการสวนไม้ผลเดิมของเกษตรกรให้มีการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ส่งเสริมไม้ผลชนิดใหม่ การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ส่งเสริมการปลูกผัก และผลิตไม้ดอกในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเพียงพอ เพื่อสร้างรายได้เสริมอีกทางให้เกษตรกร สำหรับการเลี้ยงสัตว์ของหมู่บ้านปางแดงใน มีการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเป็นรายได้เสริม อีกทั้งยังมีการให้ความรู้ทางด้านสังคม เช่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มในการทำกิจกรรมต่างๆ พัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน จัดสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่ รวมทั้งจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีในชุมชน ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมนั้น   มีการเลี้ยงผีขุนน้ำ (การทำพิธีสังเวยผีหรือเทวดาอารักษ์ ผู้เป็นหัวหน้าของผีอารักษ์ทั้งหลายที่ทำหน้าที่ ปกปักรักษาป่าไม้อันเป็นต้นน้ำลำธาร เพื่อเป็นการขอบคุณเทวดาที่บันดาลให้มีน้ำใช้ในการเกษตรกรรม) และการทำแนวกันไฟบริเวณรอบป่าชุมชนในพื้นที่ 1,200 ไร่ จัดเวรยามเฝ้าระวังและเดินตรวจพื้นที่ป่าสม่ำเสมอ

ผู้นำเกษตรกรที่โดดเด่น

          นายชาติ จันทรา ผู้นำเกษตรกรโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน ได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาดูงาน ณ เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี ปี 2560 ในอดีตลุงชาติได้ทำอาชีพปลูกข้าวโพดซึ่งมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก แต่ในปัจจุบันด้านการพัฒนาของเกษตรพื้นที่สูง ได้มีการปรับเปลี่ยนจากแปลงข้าวโพดเป็นแปลงเรียนรู้การปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น องุ่น ผักในโรงเรือน ลำไย มะนาว เสาวรสหวาน ไม้ดอก ซึ่งทำให้ลุงชาติได้มีรายได้เพิ่มขึ้น 28,000 บาท/ ปี (เฉลี่ย 4,000 บาท/ ไร่) การปรับเปลี่ยนของลุงชาติได้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ป่าสร้างรายได้ ปลูกหญ้าแฝก ลดใช้สารเคมี ไม่เผาเศษพืช ทำปุ๋ยหมัก เพาะกล้าไม้ กล้าแฝก

ภูมิปัญญางานหัตถกรรมที่โดดเด่น

          การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่โบราณ และสร้างรายได้ให้แก่คนในหมู่บ้านปางแดงใน ซึ่งมีเทคนิคการย้อมผ้าที่แปลกใหม่และแตกต่างกว่าชุมชนอื่นๆ

ครูภูมิปัญญาด้านหัตถกรรม

          นางคอง เหง ครูภูมิปัญญาด้านงานหัตถกรรมบ้านปางแดงใน เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันสมาชิกในหมู่บ้านบางส่วนที่ว่างเว้นจากงานอาชีพหลักคือเกษตรกรรม ก็จะมารวมกลุ่มกันทอผ้า จุดเด่นของผ้าจะย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่โบราณการแต่ละชุมชนจะใช้เทคนิคหรือวิธีการที่แตกต่างกันไปซึ่งได้มาจากสีธรรมชาติที่สวยงามด้วยวัตถุดิบที่มีในแต่ละชุมชน ตัวอย่างเช่น เทคนิคการย้อมผ้าที่แปลกใหม่และแตกต่างด้วยการผสมสีจากธรรมชาติกับสารเคมีเพื่อให้ได้สีที่ตลาดต้องการ ในอดีตหมู่บ้านปางแดงในมีการย้อมผ้าทอธรรมชาติอยู่แล้ว แต่พอนานไปคนรุ่นหลังไม่มีการสานต่อ จึงลืมวิถีชีวิตการย้อมสีผ้าทอธรรมชาติของคนในอดีต เนื่องด้วยสีที่ย้อมมีไม่มากและสีไม่สดใสดังนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่จึงนิยมซื้อผ้าทอจากร้านที่มีสีสันสวยงาม แต่จุดเด่นของหมู่บ้านปางแดงในมีวัตถุดิบที่สามารถนำมาย้อมสีผ้าทอได้จึงได้เข้ามาฟื้นฟูการย้อมสีผ้าทอธรรมชาติขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีการทำการวิจัยเกี่ยวกับวัตถุดิบธรรมชาติว่าไม้แต่ละชนิดที่พบในหมู่บ้านให้สีอะไรบ้าง ภายหลังจากทำการทดลอง 1 ปีได้สีธรรมชาติจากไม้ 20 ชนิด จำนวน 35 สี เช่น ไม้ดู่ ให้สีแดง เพกาให้สีเหลือง ใบเตยให้สีเขียว ฯลฯ

          สำหรับขั้นตอนการย้อมสีเริ่มจากการนำวัตถุดิบธรรมชาติที่ได้มาหั่นให้เป็นชิ้นประมาณ 3-5 ซม. หมักไว้ 1 คืน แล้วนำมาต้มนํ้าประมาณ 1 ชั่วโมง (การหมักเพื่อให้สีวัตถุดิบออกมาเต็มที่และมีสีเข้ม) จากนั้นกรองเอาแต่นํ้าและนำไปต้มต่ออีกครึ่งชั่วโมง แล้วนำผ้าฝ้ายมาชุบนํ้าเปล่าบิดให้หมาด เพื่อสีจะได้ติดง่ายจากนั้นนำมาต้มกับนํ้าสีที่ต้มแล้วอีก 30 นาที ก็จะได้ผ้าทอย้อมสีธรรมชาติที่สวยงามหลากหลายสี เพื่อนำไปตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไป ซึ่งทำให้กลุ่มแม่บ้านมีรายได้เสริมนอกจากการทำอาชีพเกษตร

แหล่งท่องเที่ยวทางเลือกในหมู่บ้านปางแดงใน

          จากการที่หมู่บ้านปางแดงในได้พัฒนาชุมชนด้านการเกษตร และพัฒนาศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรแบบผสมผสาน จึงทำให้เริ่มมีกลุ่มนักท่องเที่ยวไม่เพียงแต่เป็นกลุ่มเกษตรกรที่เข้ามาศึกษาดูงานเท่านั้นแต่ยังมีนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาท่องเที่ยว และพำนักในชุมชนเพิ่มมากขึ้น มีการรวมกลุ่มบ้านพักในชุมชนเป็นกลุ่มโฮมสเตย์ เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชนอีกด้วย  

ผลจากการจัดกิจกรรม

          การจัดกิจกรรมแนะนำแหล่งท่องเที่ยวและภารกิจของสถาบันครั้งนี้ จัดได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมและผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่โครงการหลวง ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรม  อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้งปี และช่วยให้เกิดการกระจายนักท่องเที่ยวนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับชุมชนและเกิดความยั่งยืนต่อไป

เพจแอ่วดีรีวิว

https://www.facebook.com/pg/aewdeereview/photos/?tab=album&album_id=1838624552909280

เพจหาเรื่องชิลล์

https://www.facebook.com/HaRuangChill/photos/pcb.317749842284382/317742202285146/?type=3&theater

เพจนักเล็งหลังเลนส์

https://www.facebook.com/Anon.Ox.Daownuer/posts/1488736344584550

เพจสุดใจร้าย

https://www.facebook.com/sudjairaipage/posts/2771763326382614

เพจเชียงใหม่อะไรดี

https://www.facebook.com/chiangmaiaraidee/videos/2609156529124574/

เพจโฮมสเตย์บ้านปางแดงใน Home stay Pang Daeng Nai

https://www.facebook.com/PangDaengNai/videos/272265213446187/

เพจสิงห์หนุ่มซุ่มเที่ยว

https://www.facebook.com/pg/ironear7/photos/?tab=album&album_id=1401284153346510

เพจPiyarad Taduk Grapher (ช่างภาพอิสระ)

https://www.facebook.com/niranam.bkk/posts/1484320188367039

เพจSuphachai Sinsuebphon (ช่างภาพอิสระ)

https://www.facebook.com/suphachai.sinsuebphon/posts/2472873322729408

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม