คณะผู้บริหาร สวพส. เข้าร่วมประชุมและลงพื้นที่ตรวจราชการร่วมกับ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

          เมื่อวันที่ 27-28 มกราคม 2561 ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และคณะผู้บริหาร เข้าร่วมประชุมและลงพื้นที่ตรวจราชการร่วมกับ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการตรวจเยี่ยมและรับฟังความคิดเห็นจากการดำเนินงานของเกษตรที่สูงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ ห้องประชุมดอยคำ อาคารฝึกอบรม สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมและพบปะเกษตรกรบ้านเมืองอางในโครงการจัดที่ดินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐ และเดินทางไปติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม จำกัด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

          นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนและขยายผลการดำเนินงานโครงการหลวง เน้นการบูรณาการเชิงพื้นที่ให้เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาชุมชน ภายใต้ แผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ 24 แผนงาน ได้แก่

          ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาอาชีพบนฐานความรู้

          ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการตลาด

          ยุทธศาสตร์ที่ 3 การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

          ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ

          ยุทธศาสตร์ที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ซึ่งเน้นให้ชุมชนอยู่ดีมีสุข มีการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน

          ทั้งนี้การทำงานในพื้นที่สูงซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 67 ล้านไร่ 20 จังหวัด 4,000 กว่ากลุ่มบ้าน มีคนกว่า 1 ล้านคนอยู่ในพื้นที่สูง ส่วนมากมีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ และสิทธิ์การอยู่อาศัย ซึ่งที่ผ่านมาทราบดีว่าก่อให้เกิดปัญหาในการดำเนินงานในหลายเรื่อง ถ้าหากเราเข้าใจ เข้าถึงและน้อมนำหลักการพัฒนาตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ท่านทรงทำให้ดูมาปฏิบัติ เราจะเห็นว่าท่านทำด้วยความอะลุ้มอล่วยกัน ไม่ได้ใช้แต่กฎหมาย

          “การแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำนั้นต้องทำทั้งระบบ ต้องมองปัญหาเชื่อมโยงกันทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้นน้ำซึ่งเป็นพื้นที่สูงมีปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินสูง จำเป็นต้องใช้งานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำงานต้องทำในเชิงรุก และเน้นการลงขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมายให้ชัดเจน เช่น พื้นที่แม่แจ่ม เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านมีความเข้มแข็ง และมีการเริ่มต้นดำเนินการหยุดปลูกข้าวโพดแล้ว สวพส. ควรได้ไปขยายผลในการนำโมเดลที่สำเร็จแล้วของ สวพส. เข้าไปช่วยหนุน ปลุกชาวบ้านให้ลุกขึ้นมาทำ ถ้าเราหยุดอำเภอที่ยากที่สุดได้ อำเภออื่นๆ จะมาดูงานเรา รัฐบาลทุ่มเทเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานราก แต่ภูเขาที่เป็นต้นน้ำยังพังขนาดนี้ ไม่มีทางที่เศรษฐกิจฐานรากจะดีขึ้นได้ เพราะดินเป็นปัจจัยพื้นฐานของการทำเกษตร จะทำโครงสร้างพื้นฐานต้องทำเรื่องดิน ถ้าวิธีแก้ปัญหายังวนอยู่ในระบบของเงินจะไม่สามารถออกจากปัญหาได้ ต้องเริ่มตามที่พระองค์ท่านตรัสไว้คือ พอมี พอกิน ทำพื้นฐานให้มั่นคงเสียก่อน หยุดการเผาทำลายซังข้าวโพดให้ได้ ทำดินให้สมบูรณ์จะเป็นการทำเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืน” นายวิวัฒน์ กล่าว

 

 

ภาพ : www.facebook.com/moac.go.th

 

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม